เกษตรกรปลื้มวิจัยตอบโจทย์
“มะพร้าวน้ำหอม”ดกทั้งปี
เมื่อเอ่ยถึง “มะพร้าวน้ำหอม” เชื่อว่า เป็นผลไม้โปรดของหลาย ๆ คน แต่ปัจจุบันผลไม้ใกล้ตัวชนิดนี้ราคาขยับขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตมะพร้าวน้ำหอมของไทยมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแม้จะมีแหล่งผลิตใหญ่อยู่ในหลายจังหวัดก็ตาม อย่างไรก็ดีเวลานี้มีผลงานวิจัยที่จะมาช่วยเหล่าเกษตรกร สามารถผลิตมะพร้าวน้ำหอมติดผลดกตลอดทั้งปีได้แล้ว
พืชเศรษฐกิจความต้องการสูง แต่ผลิตไม่พอ
ทั้งนี้ “มะพร้าวน้ำหอม” (Aromatic Coconut)ของไทยมีน้ำรสหวานและกลิ่นหอม จึงเป็นที่นิยมบริโภคกันเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จากกระแสความตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ โดยน้ำมะพร้าวถือว่าเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่จากธรรมชาติที่มีคุณค่าต่อสุขภาพร่างกาย เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกมากอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งจากรายงานของกรมส่งเสริมการเกษตร “ยุทธศาสตร์มะพร้าวน้ำหอมปี 2556-2559” แสดงให้เห็นว่า ในปี 2553 ไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกระจายอยู่ในพื้นที่ 64 จังหวัด รวมพื้นที่ประมาณ115,714 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 407,313 ตัน
5 จังหวัดที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอมมากที่สุดได้แก่ ราชบุรี พื้นที่ 28,344 ไร่และมีผลผลิตสูงสุดที่ 114,755 ตัน สมุทรสาคร พื้นที่ 18,824 ไร่ ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 11,165 ไร่ นครปฐม พื้นที่ 7,261 ไร่ และสมุทรสงคราม พื้นที่ 4,600 ไร่ นอกเหนือจากนี้ยังมีกระจายในจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรีและอ่างทอง ส่วนตลาดส่งออกมีการขยายตัวต่อเนื่องเพิ่มเป็น 46,000 ตัน มูลค่า 780 ล้านบาทในปี 2555 มาเป็น 51,000 ตัน มูลค่า 890 ล้านบาทในปี 2556 และเพิ่มเป็นมากกว่า 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง มาเลเซีย จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ แคนาดา อินโดนีเซียและเนเธอร์แลนด์
แต่ในพื้นที่ที่ปลูกมะพร้าวน้ำหอม เกษตรกรประสบปัญหาสภาพอากาศในแต่ละช่วงฤดู ทำให้มะพร้าวออกดอกติดผลน้อย ไม่เพียงพอต่อการส่งอออก จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ สำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ (วช. )หน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยหลากหลายด้านเพื่อนำองค์ความรู้มาถ่ายทอดต่อเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆของประชาชน ชุมชน สังคมและประเทศชาติพยายามเข้ามาให้การช่วยเหลือ โดยในปี 2558 นี้ได้สนับสนุนเพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี “เทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมติดผลดกทั้งปี” ผลงานของ รศ. วรภัทร ลันทินวงศ์และทีมงาน จากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้แก่เกษตรกร 3 กลุ่มในจังหวัดภาคกลาง ได้แก่ ราชบุรี สมุทรสาครและนครปฐม
เมื่อเร็ว ๆนี้ในวันที่ 26-27 สิงหาคม 2558 วช.ได้ร่วมกับสภาเกษตรกร จ.ราชบุรี สนับสนุนจัดการอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว ณ หอประชุมใหญ่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี โดยมีศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติเป็นประธานเปิดการอบรมและมีเหล่าเกษตรกรในท้องถิ่นและจากพื้นที่ใกล้เคียงให้ความสนใจมาร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก
บรรดาเกษตรกรได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้เทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอม ได้แก่ การออกดอก การติดผล ปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกดอกและการติดตามการดูแลช่อดอก การป้องกันกำจัดเชื้อรา ตลอดจนการผลิตมะพร้าวน้ำหอมให้ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีความต้องการสูงเป็นอย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
งานวิจัย เป็นทางออก
ประเด็น “การทำให้มะพร้าวน้ำหอมติดผลดกตลอดทั้งปี” เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องการมากสุด โดยที่ผ่านมาประสบปัญหามะพร้าวน้ำหอมขาดแคลนในช่วงฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ต้นหรือปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายนของทุกปี
ปัญหามะพร้าวน้ำหอมขาดแคลนหากเกิดในอดีตอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะความต้องการมะพร้าวน้ำหอมไม่ได้สูงดังในปัจจุบัน และแน่นอนว่า ยิ่งมีความต้องการสูง ย่อมทำให้ “ราคา” ปรับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ราคามะพร้าวจาก 5 บาทต่อผลจากสวนในปี 2553 ปรับขึ้นไปเป็น 15-20 บาทต่อผลในปัจจุบันและมีราคาขายปลีกที่ตลาดไทยผลละ 25-30 บาท ราคาในห้างสรรพสินค้าอยู่ที่ผลละ 40-45 บาท ราคาส่งออก FOB 30-35 บาทต่อผล ซึ่งหากเกษตรกรสามารถสร้างผลผลิตออกมาจำหน่ายในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ได้ย่อมส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตเองและด้านการส่งออก เนื่องจากประเทศผู้นำเข้ามีความต้องการสูงตลอดทั้งปี
แต่เวลานี้ปัญหามีทางออกแล้ว เมื่อทีมวิจัยของรศ. วรภัทรที่ศึกษาวิจัยด้านมะพร้าวน้ำหอมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 ได้นำองค์ความรู้ ที่ได้มาปรับปรุงผลผลิตและพัฒนา “เทคโนโลยีการผสมเกสรมะพร้าวน้ำหอมด้วยวิธีฉีดพ่น” เพื่อช่วยผสมให้มะพร้าวน้ำหอมติดผลในช่วงฤดูฝนเพิ่มขึ้นได้ประสบความสำเร็จ จากเพียงร้อยละ 5-10 เป็นร้อยละ 80
“มะพร้าวน้ำหอมเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุได้ 3 ปี การจะติดผลดีต้องบำรุงตั้งแต่อายุ 2 ปี ส่วนการพิจารณาสาเหตุที่มะพร้าวติดผลน้อยในบางช่วง โดยนับย้อนเวลาไป 6.5-7 เดือนอันเป็นระยะเวลาตั้งแต่หลังดอกและจั่นมีการผสมที่สมบูรณ์และเจริญเติบโตเป็นผลพร้อมตัดนำขาย พบว่า ในช่วงที่มะพร้าวออกดอก อยู่ในช่วงเดือนปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนพอดี ซึ่งการมีพายุ ฝนตกฟ้าคะนองติดต่อกันหลายวันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มะพร้าวที่มีการผสมเกสรโดยธรรมชาติติดผลน้อย เนี่องจากปริมาณไนโตรเจนที่มาจากน้ำฝนส่งผลให้เจริญทางลำต้นมากกว่า ขณะเดียวกันน้ำฝนยังชะล้างช่อดอก ทำให้เกสรขาดสารอาหารในการงออกเพื่อผสมกับดอกตัวเมียบนจั่นมะพร้าว นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนแมลงที่ทำหน้าที่ผสมเกสรแบบเดิม ๆมักจะไม่ค่อยทำงานเพราะไม่มีกลิ่นหอมจากช่อดอกมายั่วยวนใจ” รศ. วรภัทรกล่าว
พัฒนาสูตรน้ำยาผสมเกสรมะพร้าว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้นักวิจัยได้พัฒนาสูตรน้ำยาเพื่อใช้ในการผสมเกสรมะพร้าวน้ำหอมด้วยวิธีฉีดพ่น น้ำยาเป็นออร์แกนิคไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ใช้แล้วสบายใจ ไม่ตกค้าง ไม่เกิดรา โดยแยกเป็นขวดน้ำยาทำความสะอาดช่อดอกและน้ำยาเรณูที่เป็นส่วนผสมของธาตุอาหารผสมน้ำหวานเพื่อช่วยให้เกสรงอก
ขั้นตอนการผสมเกสรเริ่มจาก ล้างทำความสะอาดช่อดอกก่อน จากนั้นนำเกสรตัวผู้ประมาณ 1 กำ บดเพื่อให้สปอร์หลุดออกมาและนำไปผสมในน้ำยาที่ผสมน้ำในสัดส่วน น้ำยา 1 ส่วน : น้ำ 9 ส่วน และปล่อยพักไว้ประมาณ 30 นาทีเพื่อให้สปอร์งอก ก่อนนำไปใช้ฉีดพ่นเพื่อให้ผสมกับเกสรตัวเมีย
การฉีดต้องฉีดเวลาเช้าติดต่อกัน 3 วัน โดยวันแรกฉีดน้ำยาทำความสะอาดช่อดอกและตามด้วยน้ำยาเรณูผสมสปอร์เกสรตัวผู้ที่เตรียมไว้แล้ว จากนั้นวันที่ 2-3 ฉีดเฉพาะน้ำยาเรณูผสมสปอร์ ทั้งนี้ช่วงเวลาการฉีดที่ได้ผลดีที่สุดได้แก่ ช่วง 05.00 น.ถึงเที่ยงวัน
เกษตรกรสามารถทำเองได้ง่าย ๆ โดยน้ำยามีการผลิตให้นำไปใช้ได้ฟรี แต่อนาคตอาจมีการผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นน้ำยาราคาถูกสำหรับเกษตรกรไว้ใช้เพิ่มผลผลิตมะพร้าวน้ำหอม
เวลานี้เทคโนโลยีผสมเกสรมะพร้าวน้ำหอมดังกล่าวได้นำมาใช้จริงแล้วกับแปลงของเกษตรกรในเขตตำบลแพงพวย อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งทีมนักวิจัยได้พาคณะสื่อมวลชนไปชมถึงที่ โดยมีนายบุญสม พูนสิน อดีตผู้ใหญ่บ้านและผู้นำเกษตรกรมาให้การต้อนรับและร่วมให้ความรู้ บอกเล่าประสบการณ์ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเมื่อเห็นบรรดาแขกที่มาเยี่ยมชมต่างส่งเสียงฮือฮากับภาพที่อยู่ข้างหน้า ที่ต้นมะพร้าวภายในสวนล้วนมีลูกดกเต็มต้น
“ หลังนำเทคโนโลยีผสมเกสรนี้มาใช้ประมาณ 4-5 เดือน เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีการขยายผลต่อไปอีก” นายบุญสมกล่าว
โดยภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการผสมเกสรของทีมวิจัยรศ.วรภัทรเป็นประโยชน์อย่างมาก เกษตรกรสามารถนำมาใช้ได้ง่ายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
และในอนาคตเราคงได้เห็นเหล่าเกษตรกรในท้องถิ่นอำเภอดำเนินสะดวก จ.ราชบุรีและท้องที่อื่น ๆ ที่นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้จะสามารถผลิตมะพร้าวน้ำหอมได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามมาได้
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของแนวคิด “เศรษฐกิจบนฐานความรู้” ที่เราจะทำการเกษตรแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยตอบโจทย์ปัญหาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต ให้แข่งขันได้และ..ขายได้