ทีเอ็มบีคาดกนง.คงดอกเบี้ย
หลังรัฐลุยกระตุ้นเศรษฐกิจ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาด กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 ในการประชุมวันที่ 16 กันยายน เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนให้คงดอกเบี้ย นำโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีน้ำหนักมากกว่าปัจจัยกดดันให้มีการลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งก่อนในวันที่ 5 สิงหาคม คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเป็นไปในทิศทางอ่อนค่า ซึ่งช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ กนง. ยังมองว่านโยบายการเงินยังอยู่ในระดับผ่อนคลายอย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก
จากการประชุม กนง. ในครั้งก่อน จนมาถึงการประชุมรอบถัดไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 16 กันยายนที่จะถึงนี้ นับว่ามีหลากหลายปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ ซึ่งมีนัยยะต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย และการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ จนนำมาสู่แพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังคงให้น้ำหนักปัจจัยสนับสนุนให้คงอัตราดอกเบี้ยมากกว่าปัจจัยที่กดดันให้มีการลดดอกเบี้ย ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ จึงมองว่า กนง. จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 อีกครั้ง
สำหรับปัจจัยสนับสนุนให้มีการคงดอกเบี้ยมีอยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ โดยปัจจัยที่น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุดสำหรับการประชุม กนง. ในรอบนี้คงหนีไม่พ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน การสร้างงานในระดับตำบล การเร่งรัดการลงทุนในโครงการขนาดเล็ก ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นวงเงินสูงกว่า 1.36 แสนล้านบาท และจากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ เม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นจีดีพีปี 2558 ได้ถึงร้อยละ 0.3
นอกจากนี้ รัฐบาลยังออกมาตรการช่วยเหลือและเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กคิดเป็นวงเงินอีกกว่า 2.6 แสนล้านบาท โดยมาตรการนี้นับเป็นปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนให้การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ประเด็นถัดมา ได้แก่ การอ่อนค่าลงของค่าเงินบาท ซึ่งสอดคล้องไปกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed funds rate ภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทนับว่าอ่อนค่าลงค่อนข้างเร็ว โดยในปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการอ่อนค่าลงอีกกว่าร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับค่าเงินในช่วงการประชุมครั้งที่แล้ว และหากเทียบกับช่วงต้นปี ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว
ในทางกลับกัน ปัจจัยที่สนับสนุนการลดดอกเบี้ยมีอยู่ 4 ปัจจัย ได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจจีน อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในแดนลบ ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวจากกรณีระเบิดราชประสงค์ และภัยแล้ง เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเชื่องโยงกับเศรษฐกิจจีนผ่านการส่งออกค่อนข้างสูง ศูนย์วิเคราะห์ฯจึงมองว่าผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนจะมีน้ำหนักมากที่สุดในบรรดาปัจจัยลบทั้งหมด ด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังลากยาวอยู่ในแดนลบเป็นปัจจัยที่ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่ามีน้ำหนักเป็นอันดับถัดมา แต่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากผลกระทบจากฐานราคาน้ำมันจะค่อยๆทยอยหมดไป
เหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความกังวลต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากในปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในอดีตชี้ให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบเพียงช่วงสั้นๆเท่านั้น ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ดังนั้นประเด็นนี้จึงอาจมีน้ำหนักไม่มากนัก เช่นเดียวกับสถานการณ์ภัยแล้งในปัจจุบันที่นับว่าคลี่คลายลงจากการประชุม กนง. ในครั้งก่อน
โดยรวมแล้วศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพลิกฟื้นสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทย ดังนั้นความจำเป็นในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีจึงลดลงค่อนข้างมาก ส่งผลให้ศูนย์วิเคราะห์ฯ ปรับมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มถูกตรึงอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ณ สิ้นปี