วธ.ประกาศผลผู้ชนะการประกวด “ไทยใส่สบาย” ประจำปี 2565
สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศผล 5 ผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยใส่สบาย หรือ “Contemporary Fashion Competition 2022” มอบโล่รางวัลเกียรติยศให้กับ 5 ผลงานที่ชนะเลิศพร้อมเงินรางวัลรวม 160,000 บาท ขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมพร้อมถ่ายทอดศิลปะภูมิปัญญาของแต่ละชุมชน ให้ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นพัฒนาไปสู่สากล
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในการประกาศผลผู้ชนะการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย “ไทยใส่สบาย”ประจำปี 2565 ภายใต้โจทย์ในการนำผ้าไทยซึ่งถือว่าเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงานออกแบบให้เป็นเครื่องแต่งกายให้มีความร่วมสมัย เพื่อให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถนำมาตัดเย็บให้สวยงาม ใส่ได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น วัยรุ่น วัยทำงาน และบุคคลทั่วไปก็สวมใส่ได้อย่างสบาย
โดยมีผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 88 ภาพผลงานจากทั่วประเทศ ผ่านการคัดเลือกโดยเหล่าดีไซเนอร์มืออาชีพระดับแถวหน้าของไทย จนเหลือผลงานที่มีความโดดเด่นจำนวนทั้งสิ้น 12 ภาพผลงานในรอบสุดท้าย ก่อนประกาศผลรางวัลและมอบโล่เกียรติยศให้กับผู้ได้รับรางวัล 5 คนสุดท้าย โดยมี นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมรับชมการแสดงแฟชั่นโชว์ 24 ชุดผลงานจากผู้เข้ารอบ 12 คนสุดท้าย โดยเหล่าศิลปิน นางแบบและนายแบบที่มีชื่อเสียง
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ชนะทั้ง 5 ราย พร้อมขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิในวงการแฟชั่นที่ให้เกียรติเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ คุณศิริชัย ทหรานนท์ คุณธีระ ฉันทสวัสดิ์ คุณเอก ทองประเสริฐ และ ที่ปรึกษาโครงการ คุณบัญชา ชูดวง โดยหวังว่า ทุกกระบวนการ คือการกลั่นกรอง คัดสรร ความงดงามของผ้าไทย ที่ผสมผสานกับฝีมือของนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่นำไปสู่ก้าวสำคัญการเดินทางของผ้าไทยบนเวทีโลก
สำหรับรางวัลชนะเลิศ ที่คว้าโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ได้แก่ นายนรบดี ศรีหะจันทร์ ภายใต้แนวคิด “RE อีสาน” ผ่านแนวคิดการนำปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะเสื้อผ้ามาเป็น “แฟชั่นหมุนเวียน” จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสรค์ด้วยการ Upcycling โดยการรับซื้อและนำผ้าไหมมือสองและเศษผ้าไหมที่เหลือจากการตัดเย็บจากชาวบ้านในท้องถิ่นจังหวัดสุรินทร์ มาทำคอลเล็กชั่น รี-อีสาน เพื่อประโยชน์ทั้งในด้านความยั่งยืน การลดจำนวนขยะที่เกิดจากเสื้อผ้าสิ่งทอ ราคาที่ประหยัดและเข้าถึงได้ ด้วยดีไซน์ใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ผ่านการออกแบบจากความคิดสร้างสรรค์และมีความเป็นเอกลักษณ์
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ และเงินรางวัล 40,000 บาท ได้แก่ นาย ไอสยา โอวาท ภายใต้แนวคิด “มานะ มานี ปิติ ชูใจ” ผลงานการออกแบบจากแบบเรียนวิชาภาษาไทยที่อยู่ใน ความทรงจำจวบจนทุกวันนี้ จึงได้นำความเป็นไทยในยุคของต้นกำเนิดมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน ผ้าไหมแต้มหมี่ จังหวัดขอนแก่น บ้านหัวฝาก ด้วยเทคนิคการเลเซอร์คัทตัวอักษรเนื้อหาการเรียนการสอน เป็นบทความ บทที่เรียนต่างๆ มาเรียงเป็นลายผ้า ชูลายเส้นตัวอักษรไทย พร้อมทั้งออกแบบโครงร่างเสื้อผ้าจากตัวละคร มานะ มานี ปีติ ชูใจ มาดัดแปลงให้มีความทันสมัยแต่ไม่ทิ้งทรวดทรงการแต่งกายเหมือนตัวละครในหนังสือเรียน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ และเงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ นายรัฐพล ทองดี โดยนำที่มาของผ้าจากผู้ประกอบการ เก๋บาติก มาออกแบบภายใต้แนวคิด “ความสวยงามของคนตาบอด” จากความทรงจำหรือจินตนาการที่แปลงเป็นภาพในความคิดได้ต่างๆ นานา
นอกจากนี้ ยังได้มอบรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัลให้แก่ นาย ฬียฑา ชลิตณัฐกุล ที่นำผ้าบาติกของภาคเหนือและภาคใต้จากกลุ่มผู้ประกอบการ เก๋ บาติก และ AKARA BATIK มาผสมผสาน ด้วยเทคนิคฟรีแฮนด์ ภายใต้แนวคิด “AFTER LIFE ความเชื่อหลังความตาย” และ นาย ธนกานต์ พันธุ์สุข ที่นำผ้าฝ้ายและผ้าใยกัญชงทอมือของผู้ประกอบการใน จ.ลำปาง มาสร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิด “ฮักหนา ก๋าไก่”
ทุกกระบวนการคือการกลั่นกรอง คัดสรร ความงดงามของผ้าไทยที่ผสมผสานกับฝีมือนักออกแบบเครื่องแต่งกายรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่ก้าวสำคัญของการเดินทางของผ้าไทย ที่จะถ่ายทอดความงดงามและความยิ่งใหญ่ของมรดกไทย สู่สายตาชาวโลก
ขอเชิญผู้ที่สนใจกิจกรรมและโครงการของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยติดตาม ได้ทาง www.ocac.go.th หรือ YouTube และ Facebook Fanpage สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย