กรมการพัฒนาชุมชนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ-ชี้แจงคณะกรรมการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 65
การประชุมเชิงปฏิบัติ และชี้แจงคณะกรรมการ คณะทำงานการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2565 โครงการการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2565 (OTOP Product Champion : OPC) “The Ultimate Selection ที่สุดแห่งคุณค่าภูมิปัญญา”
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและชี้แจงคณะกรรมการ/คณะทำงานการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2565 ระดับประเทศ ภายใต้ “โครงการการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย พ.ศ. 2565 (OTOP Product Champion : OPC)” ขึ้น ในวันที่ 18 สิงหาคม 2565 ณ ห้องจูปิเตอร์ 4-7 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวถึง โครงการการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี พ.ศ. 2565 (OTOP Product Champion : OPC)ว่า กรมการพัฒนาชุมชน มีภารกิจในการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง โดยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้การพัฒนาอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ตามที่ท่านผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจ ได้กล่าวว่าในปัจจุบัน กรมการพัฒนาชุมชนมีกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่ลงทะเบียนทั้งสิ้นจำนวน 95,567 ราย/กลุ่ม 218,209 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผู้ประกอบการ OTOP เหล่านี้ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่บางรายเคยได้รับการคัดสรรฯ เพื่อจัดระดับดาว บางรายยังไม่เคยได้รับการคัดสรรฯเพื่อจัดระดับดาว เนื่องจากกรมการพัฒนาชุมชนได้เปิดรับลงทะเบียนอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้ดำเนินการคัดสรรฯ มาแล้ว เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมปีนี้ด้วยก็เป็น 3 ปี
ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้บางรายขาดโอกาสในหลาย ๆ สิ่งหลาย ๆ อย่างด้วยกัน เช่น ขาดโอกาสในเรื่องการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เนื่องจากบางโครงการที่หน่วยงานของรัฐจัดทำขึ้นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 1 -5 ดาว หรือขาดโอกาสในการเข้าสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลาย เช่น งาน OTOP ที่กรมการพัฒนาชุมชนจัด ณ ส่วนกลาง คือ งาน OTOP City งาน OTOP Midyear หรืองานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงานจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 3 – 5 ดาว เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และขาดการสร้างงาน สร้างรายได้ ประชาชนเกิดความเดือดร้อน กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้ตัดงบประมาณบางส่วนมาดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ปี 2565 เพื่อเป็นการจัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะนำไปใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน และผลิตภัณฑ์ที่เข้าคัดสรรฯ ทุกผลิตภัณฑ์จะได้รับการประชาสัมพันธ์ และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดการกระตุ้นกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไปอีกด้วย
สำหรับการประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์ที่เข้าคัดสรร ฯ จำนวน 15,000 กว่าผลิตภัณฑ์ การพิจารณาค่าคะแนนในส่วน ค ด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ เป็นการตรวจสอบ/วิเคราะห์คุณภาพตามประเภทผลิตภัณฑ์ และโอกาสทางการตลาดสู่สากล คณะกรรมการทุกท่าน จึงจำเป็นต้องหาแนวทาง และวางแผนร่วมในการพิจารณาค่าคะแนนดังกล่าว และให้ความคิดเห็นสำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 10 วัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาร้องเรียนตามมาทีหลัง หรือถึงมีปัญหาร้องเรียนเกิดขึ้น ก็มีเหตุผลและหลักฐานในการหักล้างข้อร้องเรียนดังกล่าวที่จะมีขึ้น