วช. หนุนนวัตกรรมยางพาราผง สู่ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกรถยนต์
วช. หนุนนวัตกรรมยางพาราผง สู่ผลิตภัณฑ์ผ้าเบรกรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพรับแรงเสียดทานและลดอัตราการสึกหรอ
ยางพารานับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของประเทศไทย นิยมปลูกกันมากในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันมีการนำไปปลูกในจังหวัดทางภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน เพื่อนำไปแปรรูปในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อการส่งออกทั้งในและต่างประเทศที่ผ่านมา เกษตรกรมักจะประสบปัญหาความผันผวนเรื่องราคา กระทั่งมีการคิดค้นนวัตกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากยางพาราสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติ ซึ่งรวมเป็นนวัตกรรมยางพาราผงที่นำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนผ้าเบรกรถยนต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ จากทีมวิจัยภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ( วช.)
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า วช. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สร้างองค์ความรู้และสามารถนำมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เสริมสร้างกระบวนการผลิตอย่างครบวงจรโดยอาศัยเทคโนโลยี หนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาทิ พืชเศรษฐกิจอย่างยางพารา ด้วยคุณสมบัติความเหนียว ยืดหยุ่น แข็งแรง คงทนต่อทุกสภาวะ นำมาใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อย่างงานวิจัยพัฒนายางพาราผงสำหรับใช้เป็นสารตัวเติมในการทำผ้าเบรกรถยนต์
ศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ริมดุสิต อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าได้ร่วมกับทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ และบริษัท SCG โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ( วช. ) ในการพัฒนาอนุภาคยางพาราผงละเอียดยิ่งยวด ด้วยการกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันสไตรีนของอะคริโลไนไตรล์ ลงบนน้ำยางธรรมชาติผ่านกระบวนการอิมัลชัน และนำไปผ่านกระบวนการเชื่อมขวางด้วยลำอิเล็กตรอน เพื่อผลิตเป็นอนุภาคยางพาราผงธรรมชาติละเอียดยิ่งยวดด้วยกระบวนการอบแห้งและพ่นฝอย โดยในปฏิกิริยากราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันด้วยสไตรีนและอะคริโลไนไตรล์สูงอยู่ที่ 71 % และมีประสิทธิภาพในการทำกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันสูงถึง 63%
ด้วยอนุภาคยางพาราผงละเอียดยิ่งยวดมีลักษณะไม่เหนียวติดกันหรือเกาะกลุ่ม สามารถปรับสภาพขั้วบนพื้นผิวให้แหมาะสมกับการนำไปผสมกับวัสดุต่าง ๆ และมีขนาดโดยเฉลี่ย 3.56 um รวมถึงมีคุณสมบัติทางความร้อนสูง ซึ่งเหมาะแก่การนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารตัวเติมในวัสดุเสียดทานชนิดโพลิเบนซอกซาซีนคอมโพสิต จากการประเมินสมบัติทางทฤษฎีไตรโบโลยีพบว่าชิ้นงานมีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานและอัตราการสึกหรอ อยู่ในช่วงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมผ้าเบรกสำหรับยานยนต์ มาตรฐานเลขที่ มอก. 97-2557 กำหนด ทดแทนยางสังเคราะห์ได้ ซึ่งนับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติ
สำหรับต้นทุนการผลิตอนุภาคยางพาราขนาดละเอียดคิดเป็น 140 บาทต่อกิโลกรัม ต้นทุนการผลิตวัสดุเสียดทานชนิดโพลิเบนซอกซาซีนคอมโพสิตที่มีการเติมอนุภาคยางผงละเอียดยิ่งยวดที่ถูกปรับปรุงคุณสมบัติด้วยกราฟต์โคพอลิเมอไรเซชันด้วยสไตรีนและอะคริโลไนไตรล์ คิดเป็น 60 – 75 ต่อชิ้น จากองค์ความรู้ของนวัตกรรมผ้าเบรกจากยางพาราผงนี้ จะมีการขยายผลพัฒนาต่อยอด เสริมศักยภาพในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงเป็นการช่วยส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนยางพาราให้ได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์แปรรูปนี้มากยิ่งขึ้น