คกก.กู้ชีพฉุกเฉิน วุฒิสภา แท็กทีม สสส. ติดตาม คดี รถชนนักเรียนสันติราษฎร์เจ็บ 3 ราย
คกก.กู้ชีพฉุกเฉิน วุฒิสภา แท็กทีม สสส. ติดตาม คดี รถชนนักเรียนสันติราษฎร์เจ็บ 3 ราย ถอดบทเรียนแก้ปัญหาก่อนเกิดเหตุซ้ำ ส่งเรื่องถึงผู้ว่ากทม. ขอติดตั้งสัญญาณไฟจราจรรับเรื่องแล้ว แต่ต้องรอคิวเหตุงบฯ น้อย ‘แม่เหยื่อ’ สุดเสียใจ คู่กรณีไร้เหลียวแล ลั่นใช้เงินแก้ปัญหา ส่วนลูกสาวยังผวา ฝนตกฟ้าร้องปล่อยโฮลั่น วอนแก้กฎหมายจราจรเพิ่มโทษให้หนัก ไม่หยุดรถให้คนข้ามถนนถือเป็น ‘เจตนา’
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ รร.สันติราษฎร์วิทยาลัย คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า และเยี่ยมนักเรียน 3 ราย ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรถยนต์ชนขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย หน้า รร.สันติราษฎร์วิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมา พร้อมจัดกิจกรรมติดป้ายประชาสัมพันธ์ “ขอบคุณที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย # ความดีที่คุณทำได้” บริเวณหน้าโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย
นายคณวัฒน์ วงศ์แก้ว ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า ตนขอให้กำลังใจนักเรียนที่ ประสบอุบัติเหตุทั้ง 3 คน ซึ่งขณะนี้ ทางคณะกรรมการกู้ชีพวุฒิสภาฯ ได้มอบหมายให้ภาคีมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว จัดทีมทนายเข้าให้ความช่วยเหลือ ติดตามความก้าวหน้าของคดีอย่างใกล้ชิด ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามที่มีข้อสรุปจากการลงพื้นที่ ของนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ ร่วมกับ กทม.ทั้งส่วนสำนักงานเขตราชเทวี สำนักจราจรและขนส่ง กทม. เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ผ่าน ขอให้ดำเนินการแก้ไข 2 จุด คือ 1. บริเวณปากทางเข้าโรงเรียน ให้มีการติดเครื่องหมายเตือนให้ระวัง ให้ชัดเจน ก่อนเลี้ยวทางม้าลาย เพื่อให้ผู้ที่ขับรถออกจากซอย ชะลอความเร็วและขับขี่ด้วยความระมัดระวัง 2. ทางสำนักงานเขตราชเทวี ดำเนินการปรับฟุตบาทบริเวณทางม้าลาย ไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง บดบังการมองเห็น ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้
ส่วนกรณีที่มีการร้องขอให้ติดตั้งสัญญาณไฟจราจรหน้าโรงเรียนนั้น ได้มีการเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งท่านรับเรื่องไปแล้ว แต่อาจจะต้องรอคิวที่จะดำเนินการเพราะประเทศไทยยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจะเข้ามาดูแลเรื่องการบังคับใช้กฎหมายด้วย มีการผลักดันให้แก้ไขกฎหมายจราจร มีการลงโทษ มีการตัดแต้ม เป็นต้น
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทาง สสส. กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลบริเวณทางม้าลาย 12 จุดในพื้นที่กทม. พบว่ามีรถหยุดให้คนข้ามถนนเพียง 8-9% และ สำรวจอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม พบว่า มีการหยุดรถให้คนข้ามถนนเพิ่มขึ้นมาเป็น 12% ถึงจะไม่ได้เยอะแต่ก็ได้เห็นถึงพัฒนาการ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ ต้องทำเพื่อลดความสูญเสียให้ได้ คือ 1.การหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และฝึกฝนให้เด็กมองซ้าย มองขวาก่อนข้ามทางม้าลาย 2. จำกัดการใช้ความเร็วบริเวณหน้าโรงเรียน หรือพื้นที่ชุมชน ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 3. การสวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับและคนซ้อน อย่าคิดว่าเป็นการเดินทางระยะสั้นๆคงไม่เป็นอะไร
“การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรให้สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องร่วมกัน อยากให้กรณีนี่เป็นกรณีตัวอย่าง ว่าเวลาเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นจะต้องมีการสืบค้นสาเหตุที่แท้จริงมีปัจจัยอะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องและควรจะแก้ไขอย่างไร แล้วนำมาพัฒนาระเบียบข้อบังคับต่างๆ กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นอีก เพราะกทม.ถือพื้นที่เกิดอุบัติเหตุระหว่างข้ามถนนเยอะที่สุด ตลอดทั้งปี ตอนนี้ต้องมาทบทวนกฎระเบียบกติกา กฎหมายมีช่องว่างอะไรหรือไม่ โดยเฉพาะกฎหมายจราตรที่ระบุว่าเป็นความประมาทนั้นจากนี้ จะต้องมีการกำหนดความผิดให้ชัดเจน รวมุงภูมิทัศน์ต้องปรับปรุงหรือไม่ เพื่อความปลอดภัย” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ด้านคุณแม่น้องพลอย 1 ในผู้ประสบอุบัติเหตุรถชน กล่าวว่า เหตุการณ์วันที่น้องพลอยโดนรถชน แม้จะร่างกายจะไม่เป็นอะไรมาก แต่สภาพจิตใจค่อนข้างย่ำแย่ น้องพลอยต้องนอนร้องไห้อยู่หลายคืน ช่วงระหว่างวัน นั่งรถไปโรงเรียน ฝนตก ฟ้าร้องก็มีความวิตกกังวล ร้องไห้ตลอด ในขณะที่คู่กรณี นับตั้งแค่วันเกิดเหตุ ตลอดจนการที่ต้องพบเจอกันเพื่อดำเนินการทางคดีกลับไม่เคยแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ ไม่ไปดูแลที่โรงพยาบาล ระบุเพียงว่าการจ่ายชดเชยค่าเสียหายแล้ว คือการชดเชยให้แล้ว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราเพียงแค่ต้องการเห็นการแสดงความจริงใจดูแลผู้ประสบเหตุ จึงผิดหวังมาก อยากเรียกร้องให้มีบทลงโทษผู้กระทำผิดให้หนักขึ้น กรณีมีการยกธงขอข้ามถนนทางม้าลาย หรือลงมาตรงทางม้าลายแล้ว แต่คนยังไม่ยิมหยุดรถ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุแบบนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของความประมาทแล้ว แต่เป็นการเจตนาชัดเจน
นางธัญจิรา โชติพงศ์กุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสันติราษฎร์ กล่าวว่า ในวันที่เกิดเหตุทางโรงเรียนแล้วรีบเข้าไปให้การช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งไปดูแลนักเรียนที่โรงพยาบาล ประสานผู้ปกครอง และอีกส่วนหนึ่งไปติดตามที่สถานีตำรวจเพื่อติดตามความคืบหน้าทางคดี อีกทั้ง ปัจจุบันทางโรงเรียนต้องทำงานหนักขึ้น มาโรงเรียนเร็วขึ้น เพื่อดูแลความเรียบร้อย กังวลว่าเพราะกลัวว่าหากยังไม่ถึงเวลาที่ครูเวรมาแล้ว เด็กเจออุบัติเหตุแล้วใครจะดูแลเขา เพราะขนาดวันที่เกิดเหตุ ครูอยู่กันเยอะแยะ คู่กรณียังไม่คิดจะลงมาดูแล อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนอยากจะขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินฯ คือ ขอเพิ่มสัญญาไฟจราจรให้นักเรียนกดเพื่อขอข้ามถนน เพราะการใช้ธงโบกนั้นยังถูกตั้งคำถามว่ามีสิทธิ์อะไรมาทำเช่นนี้ ทำให้ยังมีคนฝ่าฝืนไม่หยุดรถให้เด็กข้ามถนน
ด้านน้องพลอย กล่าวว่า ขอผู้ใช้รถใช้ถนนมีสติในการขับรถ ขออย่าเล่นโทรศัพท์ ขับรถดีๆ ส่วนตัวเองหลีงเกิดอุบัติเหตุขึ้นนั้นไม่ได้กลัวแล้ว แต่ยังมีความกังวล เพราะยังต้องเดินทางข้ามถนนทุกวัน