เผย ไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน 6 เดือนแรก ต่ำกว่ามาตรฐานโลกเกินครึ่ง
เผย ไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วน 6 เดือนแรก ต่ำกว่ามาตรฐานโลกเกินครึ่ง พบ แม่ยังมีความรู้ไม่ถูกต้องในการให้นมทารก-ขาดระบบช่วยเหลือแม่หลังคลอด สสส. ผนึก มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ลุย รณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เข้มข้นด้วยสารอาหาร-สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งเป้าเพิ่มเด็กไทยได้รับนมแม่ล้วน 50% ภายในปี 68
เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2565 ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า สสส. สร้างเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะตั้งแต่วัยแรกเกิดไปถึงสูงวัย โดยเฉพาะการส่งเสริมพัฒนาการสมวัยตั้งแต่แรกเกิด จึงร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จัดเสวนาออนไลน์ “6 เดือนมหัศจรรย์ นมแม่ต้อง ห้ามพลาด ให้ทารกได้รับนมแม่ สร้างภูมิคุ้มกันที่ดีส่งผลไปทั้งชีวิต” เร่งสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้การให้นมแม่กับทารกในช่วงแรกเกิดจนถึง 6 เดือน เพื่อช่วยป้องกันเด็กจากการติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้นมแม่ยังเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีเยี่ยม ประหยัด และปลอดภัย ถือเป็นอาหารเพื่อสุขภาวะ (Healthy food & nutrition) ที่สำคัญที่สุด การได้รับนมแม่และการเลี้ยงดูที่เหมาะสมอย่างมีคุณภาพ เป็นรากฐานที่จะพัฒนาให้เด็กไทยมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง พัฒนาการสมวัย และส่งผลดี รอบด้าน เพื่อให้ลูกพร้อมใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีคุณภาพ
“ช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด การให้นมแม่อย่างเดียว 100% เท่านั้น เป็นเป้าหมายสำคัญที่ สสส. ต้องการขับเคลื่อนเพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสได้รับนมแม่อย่างเพียงพอและถูกต้อง จากรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ พบอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6 เดือนแรก ลดลงเหลือเพียง 14% ต่ำกว่าค่าเป้าหมายด้านโภชนาการระดับโลก (Exclusive Breast Feeding ที่กำหนดไว้ 50% ขึ้นไป ภายในปี พ.ศ.2568) ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ แม่ยังมีความรู้ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ขาดความมั่นใจเพราะไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอก่อนคลอด ไม่รู้วิธีการกระตุ้นเพื่อสร้างน้ำนม ขาดระบบช่วยเหลือแม่หลังคลอดที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการเด็ก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการให้ความรู้เพื่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในช่วง 6 เดือนอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้หน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันยกระดับมาตรการ/นโยบายที่ช่วยเร่งรัดและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า นมแม่หยดแรกเข้มข้นไปด้วยสารอาหาร สร้างภูมิคุ้มกันจากน้ำนมแม่ มีฮอร์โมนและสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโต และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกน้อยได้แข็งแรง ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก ควรได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเข้าใจ สนับสนุน ให้กำลังใจ และตระหนักถึงความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่100% ล้วน ไม่จำเป็นต้องกินน้ำเปล่า เพราะในนมแม่มีปริมาณน้ำเป็นส่วนประกอบมากพอ นมแม่ จึงนับเป็นสารอาหารสำคัญในการสร้างการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของสมองและร่างกายเด็กในช่วงระยะ 6 เดือนแรก และแม่ยังสามารถให้นมควบคู่ไปกับอาหารตามวัยได้จนถึงอายุ 2 ปีหรือนานกว่า
“ยุคโควิด-19 นมแม่เป็นเรื่องสำคัญ เด็กกินนมแม่มักมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เจ็บป่วยบ่อยเท่าเด็กที่กินนมผสมน้ำ ซึ่งเด็กที่กินนมผสมน้ำอาจมีโอกาสท้องเสีย ท้องผูก ทางเดินหายใจอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ รวมทั้งมีโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ในอนาคต เช่น เบาหวาน มะเร็งเม็ดเลือดขาว สำหรับแม่ที่หายป่วยจากโควิด-19 หรือแม่ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากน้ำนมแม่ไปสู่ลูกได้ ซึ่งการให้ลูกกินนมแม่จึงเป็นแนวทางการสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าลูกติดเชื้อก็จะช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ดังนั้นจึงไม่มีอาหารใดที่สามารถทำหน้าที่ให้ทั้งอาหารและภูมิคุ้มกันได้เช่นนมแม่” พญ.ศิริพร กล่าว
รศ.พญ.สุดาทิพย์ โฆสิตะมงคล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด และกรรมการวิชาการมูลนิธิ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากสำคัญต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กทั้งช่วงแรกเกิดจนถึงระยะยาวแล้ว ร่างกายของแม่ที่ให้นมลูกก็จะได้สุขภาพดีไปด้วย เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ร่างกายแข็งแรง ช่วยเร่งเผาผลาญพลังงานได้ถึง 500 กิโลแคลอรีต่อวัน ทำให้แม่กลับมามีรูปร่างดี ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และโรคอ้วน โดยขณะที่แม่ให้นมลูกก็จะมีการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข ทำให้จิตใจสงบ รวมทั้งยังช่วยเสริมสร้างสายใยรักและความผูกพันระหว่างแม่กับลูกอีกด้วย