ครบรอบ 19 ปี เครือข่ายงดเหล้า สสส. รวมตัว 77 ภาคีเครือข่ายประเทศ ประกาศปฏิญญาพลังคน 3 วัย สร้างสุขภาพ

ครบรอบ 19 ปี เครือข่ายงดเหล้า สสส. รวมตัว 77 ภาคีเครือข่ายประเทศ ประกาศปฏิญญาพลังคน 3 วัย สร้างสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงเหล้า-เบียร์ ต่อเด็กเยาวชน และสังคมอย่างยั่งยืน หวังส่งต่อเจตนารมณ์ในทศวรรษที่ 3 ปลุกกระแสป้องกันปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ
เมื่อวันที่ 18 – 19 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ภายใต้สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานครบรอบ 19 ปี เครือข่ายงดเหล้า ตอน “ร้อยปี ร้อยเครือข่ายคน 3 วัย สร้างสุข สู่ทศวรรษที่ 3” รวมตัวภาคี 77 จังหวัดทั่วประเทศ ประกาศปฏิญญาพลังคน 3 วัย ร่วมเสริมสร้างสุขภาพ ลดปัจจัยเสี่ยงเหล้าเบียร์ต่อเด็กเยาวชน และสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีผู้แทนประชาคมเครือข่ายงดเหล้าทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม วิเคราะห์ภาพรวมสถานการณ์โลกกับทิศทางการทำงานงดเหล้า เพื่อเป็นทิศทางการทำงานงดเหล้า ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ใน 10 ปีต่อไป

นายสมพงษ์ มากมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวถึงสถานการณ์การดื่มแอลกอฮอล์ จ.นครศรีธรรมราชว่า ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบความชุกของผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 21.4 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ ร้อยละ 28 ด้วยความเป็นจังหวัดใหญ่ 23 อำเภอ ที่มี 12 สถาบันอุดมศึกษา 11 อาชีวศึกษา ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเสี่ยงต่อการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนการแก้ปัญหา ได้ควบคุมปัจจัยเสี่ยงเพื่อสร้างกระแสและประชาสัมพันธ์ผ่านงานต่างๆ อาทิ งานสารทเดือนสิบปลอดเหล้า ได้ประกาศนโยบายจัดตั้งชุดปฏิบัติการ เพื่อช่วยลดผลกระทบ การทะเลาะวิวาท และอุบัติเหตุจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งไม่พบการขายและโฆษณา ซึ่งเป็นแบบอย่างการจัดงานที่ปลอดภัยปลอดเหล้า

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย จากการรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยปี 2550 มีความชุกผู้ดื่มในอายุ 15 ปีขึ้นไป ร้อยละ 30 เทียบกับผลสำรวจล่าสุดปี 2564 ที่มีความชุก ร้อยละ 28 การลดลงครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนรณรงค์ของเครือข่ายงดเหล้า ผ่านโครงการรณรงค์ต่างๆ ตลอดทั้งปี ประกอบกับมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การตลาดของภาคธุรกิจทำได้ยากขึ้น อีกทั้งมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันแก้ปัญหาและผลกระทบต่างๆ จึงเห็นผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น
“ปัจจุบันโลกหมุนเร็วจากเทคโนโลยี วิถีชีวิต ช่องว่างระหว่างวัย ทำให้สังคมปัจจุบันไม่เหมือน 19 ปีก่อน แม้ว่าเครือข่ายฯ จะมีฐานการทำงานที่เข้มแข็ง มีสมาชิกทั่วประเทศ แต่สังคมที่เปลี่ยนแปลงและผู้คนที่ต่างวัย รวมทั้งเทคโนโลยีที่หมุนเร็ว ทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน สสส. เชื่อว่าบทเรียนของ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่แกร่งกล้าเติบโต แต่เรายืดหยุ่น อ่อนไหว รับรู้ความเปลี่ยนแปลง และก็ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ได้ จึงฝากสมาชิกเครือข่ายทั้ง 3 วัยที่มาช่วยขยายงานเครือข่ายงดเหล้า รอร่วมชื่นชมวันที่ต้นไม้ต้นนี้ ป่าผืนนี้ ระบบนิเวศแห่งนี้ จะแพร่ขยายและก็สร้างประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า ทศวรรษที่ 3 ของเครือข่ายงดเหล้า เน้นการเสริมพลังจากปัจจัยภายใน ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพทีมงาน 3 วัย ให้โอกาสน้องๆ เยาวชน นักรณรงค์รุ่นใหม่ได้มาร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนมากขึ้น 2.สร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้พื้นที่ระดับอำเภอเป็นตัวตั้ง 3.ใช้ข้อมูลและการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปรับสภาพแวดล้อมให้ลดแรงจูงใจเรื่องดื่มเหล้าเบียร์ 4.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และการชวน ช่วย เชียร์นักดื่มหน้าเก่าให้ลด ละ เลิก โดยเครือข่ายงดเหล้าขอเป็นหนึ่งพลังในการปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ ที่ผ่านการรับรองจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่เน้นการควบคุมการตลาดของภาคธุรกิจ การลดโอกาสการเข้าถึงของเด็กเยาวชน การเพิ่มภาษีเพิ่มราคาให้เทียบเท่ากับอัตราเงินเฟ้อ การปรับเปลี่ยนค่านิยมในสังคมที่เน้นความปลอดภัย โดยลดความเสี่ยงจากการดื่มแอลกอฮอล์ในงานหรือพื้นที่สาธารณะ หลังจากมาตรการผ่อนคลายการจัดงานประเพณีเทศกาลจากโควิด-19
“พื้นที่จังหวัดต่างๆ เริ่มจัดงานแล้ว เครือข่ายจึงเน้นย้ำให้ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพราะเป็นห่วงว่าในช่วงเวลาจากนี้ไปจนออกพรรษา ฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีจะพบการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายจำนวนมาก จึงขอร้องให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เห็นแก่ส่วนรวม รับผิดชอบสังคม และเคารพกฎหมาย และหันมารณรงค์สร้างค่านิยมที่จะไม่ดื่มและลด ละ เลิกการดื่ม โดยมุ่งไปที่เด็ก-เยาวชนในชุมชน และสถานประกอบการ ปัจจุบันมีโครงการชุมชนคนสู้เหล้าเป็นต้นแบบทุกจังหวัด มีนายอำเภอนักรณรงค์ มีชมรมคนเลิกเหล้าหัวใจเพชรที่มีสมาชิกกว่า 5,000 คนทั่วประเทศ และมีแกนนำเยาวชน YSDN ใน 45 จังหวัดที่เข้มแข็ง โดยช่วงเข้าพรรษาเครือข่ายฯ ได้รณรงค์กับชุมชน 1,048 แห่ง อำเภอรณรงค์ 158 แห่ง ที่จะใช้กระบวนการชวน ช่วย เชียร์ให้ลดละเลิก” นายธีระ กล่าว