สอวช. คัดสรรกว่า 400 หลักสูตร หนุนผู้ประกอบการ 450 รายจ้างงานด้านสะเต็ม 700 ตำแหน่ง ยกระดับทักษะบุคลากรแล้ว 14,000 คน พร้อมรับอุตสาหกรรมอนาคต
สอวช. คัดสรรกว่า 400 หลักสูตร หนุนผู้ประกอบการ 450 รายจ้างงานด้านสะเต็ม 700 ตำแหน่ง ยกระดับทักษะบุคลากรแล้ว 14,000 คน พร้อมรับอุตสาหกรรมอนาคต
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า จากข้อมูลรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่สอง ปี 2565 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ระบุว่ามีอัตราการว่างงานลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.37 ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน การว่างงานตามระดับการศึกษาลดลงในทุกระดับการศึกษา และอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ร้อยละ 2.17 ลดลงจากร้อยละ 2.77 จากปีช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า กระทรวง อว. สอวช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ขับเคลื่อนนโยบาย กลไก และมาตรการด้านการอุดมศึกษาต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยหนุนเสริมในการพัฒนากำลังคนให้มีศักยภาพ ตอบโจทย์ตลาดแรงงานและความต้องการของประเทศ หนึ่งในนั้นคือการรับรองหลักสูตรฝึกอบรม และการรับรองการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ (สะเต็ม) ซึ่งเป็นการสนับสนุนทางภาษีภายใต้มาตรการ Thailand Plus Package ที่ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับ และพัฒนาทักษะของบุคลากรผ่านรูปแบบการฝึกอบรมในหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองจากกระทรวง อว. รวมทั้งยังมีการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานบุคลากรตำแหน่งงานทักษะสูงด้วย
ข้อมูลล่าสุดมีหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรองแล้วรวมกว่า 400 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรจากหน่วยฝึกอบรมชั้นนำกว่า 40 แห่ง ทั้งจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ในแต่ละหลักสูตรจะมุ่งเน้นการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง ด้านสะเต็ม ที่สอดคล้องกับความต้องการทักษะบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Future Skills Set) เพื่อช่วยผู้ประกอบการควบคู่กับการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและสถานประกอบการ โดยมีทั้งหลักสูตรพัฒนาทักษะบุคลากรสำหรับปัจจุบันและอนาคต หลักสูตรด้านดิจิทัล หลักสูตรด้านการแพทย์ และหลักสูตรด้านอาหาร ตัวอย่างหลักสูตรอัปเดตใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ หลักสูตรระบบจัดการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า, หลักสูตร The Power of Design Thinking, หลักสูตร PDPA in action, หลักสูตร AI Technology for business หลักสูตร Healthy Food เป็นต้น ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลล่าสุดพบว่า มีสถานประกอบการส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมแล้ว 448 แห่ง และมีผู้ผ่านการฝึกอบรมรวมกว่า 13,999 คน
“ผู้ประกอบการที่ส่งบุคลากรเข้าฝึกอบรมในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองตามมาตรการ Thailand Plus Package จะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 250% อีกทั้งหน่วยงานที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีการจ้างงานในตำแหน่งงานที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้ทักษะสูงด้านสะเต็ม ยังสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือนพนักงานไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 150%” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดหลักสูตร ติดตามข้อมูลหลักสูตรฝึกอบรมที่ผ่านการรับรอง รวมถึงรายละเอียดการขอรับรองการจ้างงานบุคลากรเพิ่มเติมได้ที่ www.stemplus.or.th