กสิกรไทยหนุนนโยบายรัฐ
จัด60,000 ล้านช่วย SMEs
ธนาคารกสิกรไทยสนับสนุนมาตรการช่วยลูกค้าSMEs ของรัฐบาลบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา เตรียมปล่อยกู้ให้SMEsสู้วิกฤติเศรษฐกิจวงเงินรวม 60,000 ล้านบาท คาดปล่อยได้ภายในสิ้นปี 2558นี้ ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อเดือน แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการขอองผู้ประกอบการ ระบุ 7 เดือนแรกของปี 2558 ปล่อยสินเชื่อใหม่ไปประมาณ 140,000 ล้านบาทแก่ลูกค้าSMEs รายละ 1-5 ล้านบาท
หลังจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ประกาศ ความพร้อมในการดำเนินมาตรการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 (PGS5) ปรับปรุงใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี 8 กันยายน 2558 ในวงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยขานรับ โดยนายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์เอสเอ็มอีของไทยบางกลุ่มธุรกิจยังสามารถดำเนินธุรกิจไปได้ดี ขณะที่บางกลุ่มยังคงอยู่ในช่วงที่ต้องปรับตัวและต้องการความช่วยเหลือด้านเงินทุน ดังนั้น ธนาคารกสิกรไทยจึงเตรียมวงเงินปล่อยกู้เอสเอ็มอีรวม 60,000 ล้านบาท โดยเป็นวงเงินจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของภาครัฐผ่านทางธนาคารออมสิน ส่วนหนึ่งเป็นของธนาคารที่ออกมาตรการพิเศษมาเพื่อจะช่วยลดดอกเบี้ยให้กับลูกค้าและอีกส่วนเป็นส่วนของรัฐบาลที่จะช่วยลดความต้องการหลักประกันของธนาคารผ่านทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ให้ลูกค้าเอสเอ็มอีที่ขอกู้โครงการภาครัฐผ่านธนาคารประมาณ 30,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ธนาคารยังพร้อมที่จะสนับสนุนเงินทุนในส่วนของธนาคารเพิ่มอีก 30,000 ล้านบาทเพื่อให้เพียงพอในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้ คาดว่าปล่อยได้ภายในสิ้นปี 2558 นี้และแต่ละเดือนจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 20,000 ล้านต่อเดือน โดยเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อยังเหมือนเดิม ที่ต้องขึ้นอยู่กับธุรกิจที่ทำ หลักประกันและรายได้
ทั้งนี้ก้อนแรก 2,000 ล้านบาท เป็นส่วนที่ธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือช่วงเศรษฐกิจซบเซาเพิ่มในการเพิ่มเงินทุนและเสริมสภาพคล่องแก่เอสเอ็มอีในรูปแบบเงินกู้หรือวงเงินเบิกเกินบัญชี โดยปล่อยกู้สูงสุด 30 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุดร้อยละ 4 นาน 6 เดือน สามารถเข้าร่วมมาตรการของธนาคารได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558
มาตรการนี้เป็นมาตรการเสริมที่ธนาคารต้องการจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจในช่วงเศรษฐกิจซบเซา เพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของลูกค้าและให้ลูกค้ามีทางเลือกในการใช้วงเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ
นายพัชร กล่าวว่า ภาพรวมของเอสเอ็มอีไม่ได้แย่นัก ในส่วนของลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยหลายธุรกิจยังไปได้ดี เช่น ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และค้าวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่รับงานกับภาครัฐยังมีแนวโน้มที่สดใส ส่วนธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ก็ยังประคับประคองตัวเองไปได้ ซึ่งคาดว่าจะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงไฮซีซั่น ในภาคอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศพบว่าสถานการณ์ไม่ได้แย่อย่างที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากสินค้ายังเป็นที่ต้องการในตลาด จึงยังขายได้ มีตลาดรองรับ แต่อาจประสบปัญหาผลผลิตตกต่ำบ้าง
“สำหรับหลังจากรัฐบาลมีวงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาทแล้วจะทำให้ดีขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เอสเอ็มอีจะมากู้หรือไม่ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศ กู้มาแล้วจะมีกำลังซื้อหรือไม่ ถ้ากู้แล้วไม่รู้จะไปทำอะไรก็คงไม่มากู้”
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 มียอดสินเชื่อคงค้างของลูกค้าเอสเอ็มอีที่ธนาคารช่วยเหลือประมาณ80,000 ล้านบาท และช่วง 7 เดือนแรกปี 2558 ธนาคารมียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 140,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อรวมสิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 เฉลี่ยประมาณ 1-5 ล้านบาทต่อราย อยู่ที่ 561,659 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4
ส่วนรายได้ของธนาคารตลอดปี 2558 นี้ตั้งเป้าเติบโต 6-7% ซึ่งในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 25,000 ล้านบาท