ก.วิทย์จัดประชุมด้าน “แก้ว”
เพิ่มเครือข่าย-หนุนใช้วทน.
ก.วิทย์ จัดประชุมนานาชาติด้านแก้ว ระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2558 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในอาเซียน หวังสร้างเครือข่ายขยายตลาด เพิ่มขีดความสามารถด้วย วทน. ชี้ ไทยครองแชมป์ส่งออกมากสุดในอาเซียน อุตสาหกรรมแก้วและกระจกมีมูลค่าการส่งออกถึง 35,000 ล้านบาท ต่อปี มีโรงงานอุตสาหกรรมแก้วประมาณ 200 โรงงาน
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงความพร้อมจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านแก้ว ประจำปี 2558 (ICG Annual Meeting 2015) เป็นครั้งแรกในอาเซียน ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เพื่อให้วิทยากรระดับโลก นักวิจัยและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำ ผู้ประกอบการจากนานาชาติ ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสร้างเครือข่าย ทั้งเชิงวิชาการและธุรกิจ อันจะนำไปสู่นวัตกรรมด้านแก้วที่จะยกขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งจะจัดขั้นในระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2558 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ
รมต.วิทย์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมแก้วและกระจกมีมูลค่าการส่งออกถึง 35,000 ล้านบาท ต่อปี มีโรงงานอุตสาหกรรมแก้วประมาณ 200 โรงงาน นับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อประเทศ เนื่องจากมีหลายอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนแก้ว เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อสร้าง อาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ตัวเลขการส่งออกเฉพาะแก้ว ขวด และเครื่องแก้วบนโต๊ะอาหาร มีแนวโน้มขยายตัวอีกร้อยละ 20-30 คิดเป็นเงินเพิ่มเข้าประเทศกว่าอีกหลายพันล้านบาท เป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีคุณภาพดีอยู่แล้วในประเทศ เช่น ทราย หินปูน โดโลไมต์ แร่ฟันม้า อย่างคุ้มค่า อีกทั้งยัง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะแก้วสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด จัดเป็นวัสดุที่ควรสนับสนุนยิ่ง
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทย์ฯ ในฐานะเป็นหนึ่งในกระทรวงเศรษฐกิจ ได้ขับเคลื่อนหลายมาตรการในการส่งเสริมผู้ประกอบการ ธุรกิจ SMEs และมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ที่พร้อมให้การสนับสนุน โดยเฉพาะกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีห้องปฏิบัติการเชี่ยวชาญด้านแก้วที่มีความสามารถ ได้รับการยอมรับและเชื่อถือทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า มีศักยภาพและความพร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแก้ว ในการเป็นตัวเชื่อมความร่วมมือจากภาครัฐไปสู่ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังให้บริการครอบคลุมทั้งด้านบริการวิเคราะห์ทดสอบ วิจัยพัฒนา การให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแก้วให้ทัดเทียมสากล
ดร. สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นสมาชิกของ International Commission on Glass (ICG) มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านแก้วที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีสมาชิกเป็นสถาบันด้านแก้ว มหาวิทยาลัย องค์กรภาคเอกชน ผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ดีระหว่างงานวิจัยและวิชาการ กับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ วศ. ได้เตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จึงมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จและจะทำให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไทย นอกจากนี้ การจัดประชุมนี้ยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ด้วยการนำนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงเข้าสู่ประเทศในอีกทางหนึ่ง
ด้านนายวรวิทย์ สุรีศรากร รองประธานและเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำอาเซียนและยังเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์แก้วไปทั่วโลก อาทิ บรรจุภัณฑ์แก้ว กระจกแผ่น เครื่องแก้วที่ใช้บนโต๊ะอาหาร หลอดแก้วที่ใช้กับหลอดไฟฟ้าในรถยนต์ ฉนวนใยแก้ว บล็อคแก้วที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จึงมีความสำคัญยิ่งต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแก้วในประเทศไทย ที่จะเข้าถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่จะส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมด้านแก้ว อีกทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมไทยคงความเป็นผู้นำได้อย่างยั่งยืน