สธ.โดยกรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรม “วันสุขภาพจิตโลก” ชวนประชาชนร่วมวัดใจ เติมพลัง สร้างสังคมมีสุข

10 ตุลาคม 2565 กรมสุขภาพจิตจัดกิจกรรมวันสุขภาพจิตโลก 2022 พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมวัดใจ เติมพลัง เพื่อสร้างสังคมมีสุข

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 เป็นต้นมา สหพันธ์สุขภาพจิตโลก (The World Federation for Mental Health : WFMH) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 10 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) เพื่อให้ประชากรทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต และการลงทุนเพื่อการป้องกันและบำบัดรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิตใจ ประเทศไทยมีนโยบายทางสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยหมายถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ไม่ใช่แค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการดูแลทางจิตใจด้วย โดยมี “ความหวัง” เป็นองค์ประกอบสำคัญของ “การสร้างความเข้มแข็งทางใจ ให้ล้มแล้วลุกขึ้นมาใหม่ได้” ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุข การสร้างความเข้มแข็งทางใจ เป็นหลักการสำคัญของนโยบายการดูแลจิตใจประชาชนของกรมสุขภาพจิตในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมาอีกด้วย เราทุกคนคงทราบดีว่า ไม่มีช่วงเวลาใดในประวัติศาสตร์ที่ปัญหา สุขภาพจิตได้มามีผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลกมากเท่ากับยุคสมัยของเราเป็นที่น่ายินดีว่า ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิตที่มีการปรับปรุงในปี 2562 นั้น มีบทบัญญัติ

ที่สำคัญ คือ การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ผู้ดูแล และสังคม รวมไปถึงภารกิจของการส่งเสริมป้องกัน รักษา การบริการ และฟื้นฟูด้านสุขภาพจิต ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และได้มีการมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรมสุขภาพจิต ร่วมกันแก้ไขจุดอ่อนของระบบ ให้การดูแลด้านสุขภาพจิตเป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยขอให้ดำเนินการเป็นกรณีเร่งด่วนด้วย นอกจากนี้ เรายังมีการลงทุนเพื่อสุขภาพจิตที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ ประเทศไทยเป็นแกนหลักในการนำเสนอประเด็นนี้ต่อองค์การอนามัยโลก และนำไปสู่การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหาร ในหัวข้อ “การส่งเสริมการเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพจิต และการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ในเรื่องของการประเมินตนเอง และให้คำปรึกษาออนไลน์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาทางจิต ทั้งในหมู่ประชาชน และผู้ปฏิบัติงานอีกด้วย

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันบทบาทของ อสม. และ อสส. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agents )พฤติกรรมด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในชุมชน จะต้องได้รับการเสริมสร้างอาวุธทางปัญญา เพื่อสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ครอบครัว บุคคลใกล้ชิด และชุมชนเป็นเกราะป้องกันตนเอง และมีส่วนช่วยลดการระบาดของโรคในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเครื่องมือที่สำคัญคือ การใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า “วัคซีนใจ” โดยใช้ศักยภาพชุมชมและใช้สายสัมพันธ์ในชุมชนมาร่วมกันสร้างสุขภาพจิตที่ดีให้ประชาชนในวงกว้าง สร้างความรู้สึกปลอดภัย สร้างความสงบ สร้างความหวัง และสร้างความเข้าใจให้โอกาสกันในชุมชน นำไปสู่การมีพลังใจที่จะก้าวผ่านวิกฤตการระบาดในครั้งนี้ไปพร้อมกัน ดังคำว่า “ชุมชนที่ไม่ทอดทิ้งกัน” กระทรวงสาธารณสุขจึงขอขอบคุณ และพร้อมสนับสนุนการเพิ่มกำลังในการให้บริการประชาชนทั้งเชิงรุกและเชิงรับ ผ่านกลไก 3 หมอ และหน่วยบริการด้านสาธารณสุขในทุกระดับ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายทางด้านสาธารณสุข ไปจนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ต้องช่วยกันส่งเสริมและให้บริการด้านสุขภาพจิตให้กับประชาชน นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้เลยคือภาคีเครือข่ายนอกระบบสาธารณสุข ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและแกนนำภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในการให้ความร่วมมือการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนมีความเข้มแข็งและก้าวข้ามทุกวิกฤตมาได้อย่างสวยงาม

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเจตนารมณ์ที่จะสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิตควบคู่กับสุขภาพกาย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับคนเรามีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง มาจากการที่ร่างกายและจิตใจเสียสมดุล โดยมีปัจจัยจากสภาพแวดล้อม รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันที่มีความเร่งรีบ แข่งขัน ทำให้เกิดผลต่อจิตใจ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล นอนไม่หลับ หรือซึมเศร้า การรักษาสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยป้องกันการเจ็บป่วย ทั้งช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ แข็งแรง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ความเจ็บป่วยทางจิตมีสาเหตุหลักมาจากความเหนื่อยล้าและความเครียด โดยเฉพาะความเหนื่อยล้าและความเครียดเรื้อรังที่สามารถนำไปสู่การเสื่อมสมรรถภาพทางร่างกายได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้นคนที่ทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยทางกายเรื้อรังมักจะประสบความปวดร้าวทางจิตใจมากกว่าคนที่มีสุขภาพดี การมีสุขภาพร่างกายที่ย่ำแย่ยังเพิ่มแนวโน้มในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการส่งเสริมการบริการทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในโรงพยาบาลแต่ละระดับ ให้มีการบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน รวมไปถึงการดำเนินงานติดตามในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขในมิติสุขภาพจิตอย่างทั่วถึง เพราะสุขภาพที่ดีคือสุขภาวะที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางสังคมและทางปัญญา ไม่ใช่เพียงการไม่มีโรคภัยไข้เจ็บหรือความแข็งแรงทางกาย และจะส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะกายและจิตที่ดี ผ่านกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ 360 องศา พร้อมกันนี้ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสำรวจจิตใจ ผ่าน www.วัดใจ.com อยู่เสมอ เพราะสุขภาพกายจะสดใส หากมีสุขภาพใจที่แข็งแรง

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การสื่อสาร ค่านิยมและโรคระบาดที่สำคัญ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงด้านการเรียน การทำงาน สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด หากความเครียดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่มากจนเกินไป ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของบุคคล เนื่องในวันสุขภาพจิตโลก ประจำปี 2565 World Mental Health Day 2022 ในวันนี้ กรมสุขภาพจิตต้องขอขอบคุณการดำเนินงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา การร่วมมือกันจากทุกฝ่ายทำให้ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอนามัยโลก ในเรื่องของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ที่สนับสนุนการให้บริการทางจิตเวชและสุขภาพจิตทั้งในสถานบริการและชุมชน จนเข้าถึงผู้รับบริการได้ในวงกว้าง และยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ร่วมในการส่งเสริม ผลักดัน และสนับสนุนผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้มีโอกาสและกลับไปใช้ชีวิตในสังคมอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น และสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขอีกด้วย

ในโอกาสนี้ กรมสุขภาพจิตจึงขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกคน ร่วมรู้เท่าทันสุขภาพจิตของตนเอง ผ่านระบบ Mental Health Check In หรือ www.วัดใจ.com และเมื่อพบปัญหาที่เกิดขึ้นขอให้ทุกคนร่วมเติมพลังผ่านองค์ความรู้ และวิธีการรวมไปถึงการขอรับคำปรึกษาจากบริการสถานพยาบาลหรือเครือข่ายดูแลใจในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะปัญหาสุขภาพจิตสามารถแก้ไขได้หากคนไทยร่วมวัดใจ เติมพลัง สังคมก็จะเกิดความสุขอย่างยั่งยืน