มูลนิธิคุณ ผนึกวิทยาลัยปิโตรเลียม-ปิโตรเคมี จุฬาฯ เปิดเวทีบรรยายพิเศษ “WASTE MANAGEMENT AWARENESS”

มูลนิธิคุณ (KHUN Foundation) ผนึกกำลังวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Ppc) และ บริษัท วาวาแพค จำกัด (VAVA Pack) เปิดเวทีบรรยายพิเศษ“WASTE MANAGEMENT AWARENESS”ส่งเสริมความรู้ – ปลูกจิตสำนึก การลด-แยกขยะ พร้อมนักแสดงรักษ์โลก ร่วมสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อปลูกฝังให้บุคลากรของมหาวิทยาลัย เด็กและเยาวชน ได้มีการตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

โดยการบรรยายพิเศษครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรหลายท่านดังนี้
• นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ ผู้มอบโอกาสให้กับสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เหมือนที่เธอเคยได้รับโอกาส หัวข้อ Waste Management Awareness
• ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดี วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี (Ppc) และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มานิตย์ นิธิธนากุล รองคณบดีด้านวิชาการ และศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์ ศุภผล รองคณบดีด้านนวัตกรรมองค์กร หัวข้อ Towards Net Zero Society
• นายวีระชาติ โลห์ศิริ เจ้าของโรงงานผลิตกระสอบสาน ผู้นำขยะเศษกระสอบมาทำกระเป๋าแบรนด์ดังระดับโลก หัวข้อ Project Zero Waste
• เจฟฟรี่ เบญจกุลวิวัฒน์ นักปั่น และ ผู้ก่อตั้งเพจ Bicycle diary เปิดใจปั่น ปั่นเพื่อสุขภาพที่ดี และปั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วย, บิ๊ก-ณทรรศชัย จรัสมาส, มิ้ม-รัตนาภรณ์ กลิ่นกุหลาบหิรัญ

ศาสตราจารย์ ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร คณบดี วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Ppc) เปิดเผยว่า วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยระดับบัณฑิตศึกษานานาชาติ เฉพาะทางด้านปิโตรเลียม ปิโตรเคมี พลังงาน และพอลิเมอร์ ร่วมกับ บริษัท วาวาแพค จำกัด และมูลนิธิคุณ สร้างสรรค์โครงการดีๆ เพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน วิทยาลัยฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการบูรณาการหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Society) จึงผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษาถือเป็นชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาการจัดการขยะในรูปแบบครบวงจร สามารถนำไปพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบได้ เพื่อขยายไปสู่สังคมในวงกว้าง ด้วยแนวคิด 3R Reduce Reuse Recycle เพื่อลดปริมาณขยะ นำไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น อีกทั้งวิทยาลัยฯ ยังมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับการจัดการขยะในหลายๆ มิติ เพื่อตอบโจทย์ Circular Economy และการขับเคลื่อนสู่ Net Zero Society ด้วย

นางสาวปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต ประธานมูลนิธิคุณ (KHUN Foundation) กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เพื่อบรรยายให้กลุ่มนิสิต นักศึกษา และบุคลากรของวิทยาลัยฯ รับฟังในประเด็นสิ่งแวดล้อมหลากหลายมุม ทั้งเชิงวิชาการจากคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ จากเจ้าของธุรกิจที่ทำบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก และจากพี่และกลุ่มคนที่ช่วยจัดกิจกรรมรณรงค์จากมูลนิธิคุณ

“ในส่วนของพี่จากมูลนิธิคุณจะให้มุมมองด้านการวางแผนจัดกิจกรรมดี ๆ และความโชคดีของการทำดีที่มีคนคอยเข้ามาสนับสนุน ทำให้สามารถจัดกิจกรรมขับเคลื่อนไปได้ในแต่ละปี สำหรับกิจกรรมปีหน้ายังคงเน้นกลุ่มเด็กๆ เพราะเป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจต่อเครื่องมือที่เราพัฒนาขึ้นมาอย่างดี คือการใช้หุ่นเชิดสอนแยกขยะแบบสนุกสนาน และการผลิตสื่อที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจากการนำข้อมูลเชิงวิชาการที่ได้จากทางทีมอาจารย์ของจุฬา มาผนวกกับกลุ่มคน influencer ที่จะมาเป็นแขกรับเชิญในคลิปแต่ละตอน”

นอกจากการสอนแยกขยะแล้ว ในแต่ละคลิปเราจะแทรกความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านการช่วยเหลือสัตว์ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด และพี่หวังว่าสิ่งที่พี่พยายามทำมาในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา จะช่วยสร้างให้เด็กๆ โตขึ้นมาเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ “ถ้างานนี้มีคนฟังซัก 100 คน แล้วสามารถทำให้คนมีความคิดคล้ายเราเพิ่มได้ซัก 1 คน ก็คุ้มค่าแล้วค่ะ”
มูลนิธิคุณก่อตั้งมาแล้วกว่า 4 ปี และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างการรับรู้และปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีในการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมการให้ความรู้เรื่อง 3R ได้แก่ การลดการใช้ (Reduce) เพิ่มการใช้ช้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ซึ่งมีการวัดผลแล้วเห็นความคืบหน้าชัดเจน จึงจำเป็นต้องให้ความรู้อย่างจริงจัง ในครั้งนี้ มูลนิธิคุณ ร่วมกับ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท วาวาแพค จำกัด ได้จัดกิจกรรมพิเศษ “บรรยายพิเศษ โดยคนพิเศษ” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจกับแนวคิด ชีวิตยุคใหม่ เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์! ด้วยมือเรา เพื่อเราเพื่อโลกที่ดีอย่างยั่งยืน

เจฟฟรี่ เบญจกุลวิวัฒน์ นักปั่น และ ผู้ก่อตั้งเพจ Bicycle diary เปิดใจปั่น ได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในงานเสวนาครั้งนี้ กล่าวว่า งานนี้ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อปลูกฝังและรณรงค์การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการจัดการขยะ โดยเฉพาะการคัดแยกขยะที่ต้นทาง จะทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบทำงานได้ง่ายขึ้น และสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ เพื่อนำงบประมาณไปจ่ายในส่วนอื่นๆ โครงการนี้จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่วนตัวเป็นคนชอบปั่นจักรยาน เพราะช่วยประหยัดพลังงาน และ ลดฝุ่น PM 2.5 อยากจะเชิญชวนทุกคนจะลองปั่นดูออกกำลังกายหรือปั่นไปทำงาน หรือปั่นจักรยานท่องเที่ยวแบบ New Normal ในเขตเมือง หรือในชุมชนต่างๆ เพื่อสุขภาพที่ดี หากการหันมาใช้จักรยานเพิ่มขึ้นจะทำให้ลดการใช้น้ำมัน ลดฝุ่นพิษ ทุกอย่างจะมีแต่เรื่องดีๆเกิดขึ้น


อย่างไรก็ดี มูลนิธิคุณ มีเป้าหมายในการทำโครงการ “ส่งเสริมความรู้ และปลูกจิตสำนึก ด้านการลด และแยกขยะ ระดับประถมศึกษา”ในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ในหลายพื้นที่ด้วยความร่วมมือที่ดีจากองค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยการจัดตั้งโครงการธนาคารขยะให้กับโรงเรียนที่มูลนิธิคุณเคยไปจัดการแสดงและโรงเรียนที่เป็นพันธมิตร เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนได้มีการตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และตั้งเป้าหมายว่าให้เด็กทำได้จริงและสามารถวัดผลได้
ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook : KHUN Foundation