สสส.-ธนาคารโลก ประเทศไทย สานพลัง จัดหลักสูตรผู้ฝึกใจให้ชุมชนเข้มแข็ง
สสส.-ธนาคารโลก ประเทศไทย สานพลัง จัดหลักสูตรผู้ฝึกใจให้ชุมชนเข้มแข็ง เสริมศักยภาพ ผู้ดูแลเด็ก-ชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ลดเครียด-เยียวยา ลุย สร้างแกนนำทำงานระดับพื้นที่
รศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (Thai Health Academy) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ThaiHealth Academy ธนาคารโลก ประเทศไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรผู้ฝึกใจให้ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยระบบสนับสนุนสุขภาพจิต และสิทธิมนุษยชนที่ยั่งยืน (TOT for Community Resilience, Mental Health and Human Rights Support) เพื่อเสริมศักยภาพแกนนำคนทำงานด้านสุขภาพ ดูแลเยียวยาเด็ก และชุมชน ที่ได้ผลกระทบจากความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่กว่า 18 ปี ตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน เกิดเหตุรุนแรงมากกว่า 2 หมื่นครั้ง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่า 2 หมื่นราย ทำให้เด็ก เยาวชนในพื้นที่จำนวนมาก ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า หรือขาดหัวหน้าครอบครัว ขาดคนดูแล รวมถึงบาดเจ็บ พิการด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมอบรม 38 คน
รศ.ดร.นพ.นันทวัช กล่าวต่อว่า หลักสูตรนี้จัดอบรม 4 ครั้ง ระยะเวลา 5 เดือน โดยมีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักวิชาการ อบรมให้ความรู้อาสาสมัครและแกนนำในชุมชน ด้านการเยียวยาจิตใจ การประเมินอาการเบื้องต้นทางจิตเวช มุ่งส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูจิตใจของเด็ก เยาวชน คนในพื้นที่ นำไปสู่การต่อยอดงานพัฒนาสุขภาวะทางใจ และสิทธิมนุษยชนในชุมชน โดยสานพลังเครือข่ายทั้งครู นักจิตวิทยาโรงเรียน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และภาคประชาสังคมในพื้นที่ กว่า 186 คน จัดอบรมครูช่วยนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยงทางอารมณ์ พฤติกรรม สังคม ซึ่งหลักสูตรนี้อยู่ระหว่างการแปลภาษา 3 ภาษา ไทย อังกฤษ มลายู (อักษรรูมี) เพื่อเผยแพร่ให้ผู้สนใจ และคนในพื้นที่ได้ร่วมเรียนรู้ ทั้งนี้ ในปี 2566 ThaiHealth Academy จะพัฒนา 40 หลักสูตรเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งสำหรับองค์กร หน่วยงาน และประชาชนทั่วไป ผู้ที่สนใจ ติดต่อได้ที่ www.thaihealthacademy.com
นางภมรรัตน์ ตันสงวนวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคมอาวุโส ธนาคารโลก ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลก มุ่งสร้างความเข้มแข็งคนในชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2550 การพัฒนาหลักสูตรฯ ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้ ด้านจิตสังคมในเด็ก และผู้พิการ ผู้เข้าอบรมหลักสูตรได้รับความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพจิต มีความมั่นใจในการใช้เครื่องมือ ออกแบบกระบวนการ จนนำไปปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ เกิดการทำงานเป็นเครือข่าย เช่น การสร้างเครือข่ายนักจิตวิทยาในโรงเรียน การเชื่อมต่อระหว่างภาคประชาสังคมและภาครัฐ เด็ก ครอบครัวที่ประสบปัญหา ได้รับการส่งต่อเข้าระบบ ประสานสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด โรงเรียนในสังกัด เตรียมพร้อมในการทำงานเพื่อดูแลเด็กและชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป