ผลงาน “Visionnear” มจธ.
คว้า “Investors Award”
ผลงาน “Visionnear : อุปกรณ์สวมใส่สําหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น” ของทีมนักศึกษาจากมจธ. คว้า รางวัล Investors Award ในกิจกรรม “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” (Business Matching) จัดโดยกลุ่มบริษัทสามารถและสวทช. ที่นำ 10 ผลงานเด่นของโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2015” ที่เข้ารอบ2 จาก 25 ผลงานออกมาเปิดโอกาสให้นักลงทุนพบนวัตกรคนไทย
ทั้งนี้ท่ามกลางการเดินหน้าประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล การส่งเสริมการเรียนรู้ วิจัยและพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ การทำธุรกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนและสังคมไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)และกลุ่มบริษัทสามารถ โดยการสนับสนุนจากพันธมิตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งสร้างพื้นฐานประเทศไทยสู่เป้าหมายดังกล่าว ผนึกกำลังส่งเสริมนักคิด นักพัฒนา นำแนวคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี ผลักดันสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ (ไม่จำกัดระดับการศึกษา)ที่มีอายุระหว่าง 20 – 35 ปี โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในระดับโลกได้
ในปี 2015 ถือเป็นปีที่ 4 เปิดรับสมัครไปในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 ที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 100 ผลงาน ผ่านการสัมภาษณ์ให้เข้ารอบแรกมานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการจำนวน 45 ผลงานและผ่านคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ 25 ผลงานในรอบที่ 2 ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับทุน(Business Startup Funds) ทุนละ 20,000 บาท ก่อนที่จะไปสู่การคัดเลือกผู้ชนะเลิศ “รางวัล Samart Innovation Award 2015” ที่จะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รับเงินรางวัล 100,000 บาทและรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รับเงินรางวัล 50,000 บาท และทั้ง 3 อันดับแรกนี้ยังได้รับรางวัลทัศนศึกษาต่างประเทศด้วย รวมมูลค่าโครงการฯกว่า 1,000,000 บาท
แต่ก่อนที่จะไปสู่การคัดเลือกผู้ชนะเลิศ ทางกลุ่มบริษัทสามารถและสวทช. ได้นำ 10 ผลงานเด่นจาก 25 ผลงานมาโชว์ก่อน ในกิจกรรม “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” (Business Matching) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนพบนวัตกรคนไทย
1 ใน 10 เด่น ได้แก่ “Visionnear : อุปกรณ์สวมใส่สําหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น” ของ ทีมนายนันทิพัฒน์ นาคทอง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ยังสามารถคว้า รางวัล Investors Award มาครองได้อีกด้วย
นายนันทิพัฒน์เปิดเผยว่า ได้พัฒนาอุปกรณ์สวมใส่สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นที่จะช่วยบรรเทาปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในขณะนี้อุปกรณ์ที่มีรูปลักษณ์เหมือนแว่นตาไฮเทค สามารถทำงานได้หลายอย่าง คือ ช่วยให้ผู้พิการทางสายตาแยกแยะธนบัตร แยกสิ่งของบนชั้นวางสินค้าที่มีบาร์โค้ด แยกสีและแยกไฟเปิดและปิดได้
คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นมีอิสระและสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้งานและเรียนรู้ได้ง่ายและมีต้นทุนในการผลิตไม่แพงเพียงประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะถูกลงอีกหากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก
นายนันทิพัฒน์กล่าวต่อว่า เวลานี้กำลังผลิตออกมา 10 ชิ้นเพื่อนำไปให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นหมุนเวียนทดลองใช้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ส่วนการพัฒนาในอนาคตที่มีผู้ให้โจทย์มาคือ ต้องการให้แยกแยะตัวเลขบนสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ด้วย เป็นโจทย์ที่จะต้องพัฒนาต่อไป
“เวลานี้มีหลายหน่วยงานให้ความสนใจเพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในขณะนี้มีทางสมาคมฯให้ความสนใจจะนำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ ขณะที่ทางสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ(สกส.)จะให้การช่วยเหลือแนะนำในการตั้งบริษัทและการลงทุนเบื้องต้น
นอกเหนือจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ของสวทช.และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของมหาวิทยาลัยฯเองด้วย”
อีกไม่นานราวเดือนพฤศจิกายนคงจะได้รู้ผลงานชนะเลิศคว้า “รางวัล Samart Innovation Award 2015” กัน และ “Visionnear : อุปกรณ์สวมใส่สําหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น” จะชนะใจกรรมการหรือไม่ ต้องตามไปลุ้นกัน