63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา เวที NRCT Talk เวทีแห่งคนช่างคิด
63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา ในเวที NRCT Talk เวทีแห่งคนช่างคิด
วันที่ 27 ตุลาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเวทีเสวนา NRCT Talk เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี ภายใต้แนวคิด “63 ปี วช. มุ่งสู่สังคมอุดมปัญญา พัฒนาไทย ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นมาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของฝีมือนักวิจัยไทย โดยมี นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการเสวนา ณ ศูนย์จัดการความรู้การวิจัย ชั้น 1 อาคาร วช.1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า กิจกรรมบนเวที “NRCT Talk” ที่จัดขึ้น วช. ให้การสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมโดยมุ่งเน้นการนำความรู้จากผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนประเด็นท้าทายของสังคม ซึ่งการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ประชาชนทั่วไปรวมไปถึงการประชาสัมพันธ์และจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่โดดเด่นของวช. เพื่อสร้างความตระหนัก และการรับรู้ต่อภาครัฐและเอกชนในบทบาทที่ วช. เป็นผู้สนับสนุนและผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อสังคมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
ซึ่งผลงานที่ร่วมเสวนาบนเวที NRCT Talk เป็นผลงานที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมจาก วช. จำนวน 3 ผลงาน ได้แก่ 1) Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพ 2) เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง และ 3) ตุ๊กตายาดมไทยทรงดำบ้านดอน
ผลงานจากโครงการวิจัยชิ้นที่ 1 : เรื่อง “Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพ” โดย ดร.บาจรีย์ ฉัตรทอง และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความโดดเด่นของงานวิจัย คือ ผลิตภัณฑ์ Beeplus-อาหารเสริมทดแทนเกสรดอกไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งพันธุ์ BIO-FERA-จุลินทรีย์ผสมเอนไซม์ชีวภาพนั้น มีโภชนาการที่สำคัญ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แร่ธาตุ และ วิตามินดี รวมไปถึง กรดอะมิโนที่จำเป็นครบถ้วน ที่จำเป็นต่อผึ้งในการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิต ผลิตภัณฑ์นี้สามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายและลดความยุ่งยากต่อการใช้งาน ที่เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ แตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มีราคาสูง
ผลงานจากโครงการวิจัยชิ้นที่ 2 : เรื่อง “เครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อนและผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นนทนันท์ พลพันธ์ และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ความโดดเด่นของงานวิจัย คือ จากปัญหาการเก็บรักษาจิ้งหรีดใช้วิธีการแช่แข็งเป็นหลักทำให้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งจิ้งหรีดแช่แข็งมีน้ำหนักมากทำให้ค่าขนส่งแพง คณะผู้วิจัยจึงเลือกวิธีการอบแห้งจิ้งหรีดด้วยเครื่องอบแห้งระบบปั๊มความร้อน โดยลดความชื้นจิ้งหรีดปริมาณน้ำอิสระน้อยกว่า 0.6 ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยจากจุลินทรีย์ก่อโรค และยับยั้งการสร้างสารพิษของเชื้อรา การอบแห้งด้วยเทคนิคนี้ใช้อุณหภูมิในการอบแห้งที่ต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่ได้หลังการอบแห้งจึงมีคุณภาพที่ดี และได้ทำการศึกษารูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดอบแห้ง นับเป็นนวัตกรรมเกษตรเชิงสร้างสรรค์ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร
ผลงานจากโครงการวิจัยชิ้นที่ 3 : เรื่อง “ตุ๊กตาไทยทรงดำบ้านดอน” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจิราภา งามสระคู และคณะ แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ความโดดเด่นของงานวิจัย คือ การนำวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยทรงดำที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ของชุมชนไทยทรงดำ ตำบลบ้านดอน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มาผสมผสานในเชิงมิติทางวัฒนธรรมสู่การต่อยอดเพิ่มมูลค่า
นับเป็นผลิตภัณฑ์สินค้า ตุ๊กตาดินประดิษฐ์ สำหรับบรรจุยาดมและยาหม่อง โดยออกแบบผลิตภัณฑ์สินค้าที่แสดงเอกลักษณ์ภูมิปัญญา การแต่งกายของ ชาย หญิง ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำที่โดดเด่น ผลิตภัณฑ์ยาดมที่มีส่วนผสมของ มะแข่น เป็นเครื่องเทศที่ชาวไทยทรงดำ นำมาประกอบอาหาร และการนำแป้งข้าวโพดมาใช้ในการปั้นตุ๊กตาดินประดิษฐ์ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ สมุนไพรที่ไม่ได้มีแค่ไว้ดมแก้วิงเวียนศีรษะเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ และกลุ่มอาชีพตุ๊กตาไทยทรงดำบ้านดอนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับเวทีเสวนา NRCT Talk จัดขึ้นในงานวันคล้ายวันสถาปนา วช. ครบรอบ 63 ปี เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพจากฝีมือนักวิจัยไทย โดยผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาร่วมเสวนาในเวทีนี้จะร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ชิม ช็อป เพลิน เดินตลาดงานวิจัย ซึ่งมีผลงานวิจัยพร้อมใช้ประโยชน์มาจัดแสดงอีกมากมาย โดยจะจัดไปถึงวันที่ 28 ตุลาคม 2565 ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://63years.nrct.go.th