สกว.หนุนต่อยอดผลิตภัณฑ์
เสริมแคลเซียมจากงานวิจัย
สก.จัดประชุมวิชาการประจำปี ผลักดันงานวิจัยให้บรรลุวัตถุประสงค์ สร้างการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงต่อยอด ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ นักวิจัยอาวุโส สกว. โชว์ผลงานวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูกต่อยอดเชิงพาณิชย์ นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอาหารพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมคุณภาพสูง แก้ปัญหาการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ ในลำไส้หวังลดภาวะกระดูกหัก
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประจำปี ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ด้านแคลเซียมและกระดูก หัวข้อ “Multidisciplinary research on calcium and bone physiology: basic science and translation” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ค้นพบภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ สกว. โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ นอกจากนี้ยังสร้างความรู้ที่ช่วยชะลอ ป้องกัน และรักษาโรคกระดูกพรุน ตลอดจนภาวะกระดูกหักและข้อเสื่อมที่พบบ่อยในสังคมผู้สูงอายุ
เพื่อให้การวิจัยบรรลุวัตถุประสงค์ในการเกิดความเปลี่ยนแปลงทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงเกิดการต่อยอดและประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ เชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ และเชิงนโยบายอย่างกว้างขวาง จำเป็นต้องทำเป็นเครือข่ายวิจัยที่ประกอบด้วยแพทย์และนักวิจัยที่เชี่ยวชาญหลายสาขา อาทิ ชีววิทยาด้านการแพทย์ระดับโมเลกุล สรีรวิทยา ออร์โธปิดิกส์ ชีวฟิสิกส์ วัสดุศาสตร์ เกษตรและอาหาร เป็นต้น โดยในปี พ.ศ. 2557 สกว. ได้สนับสนุนนักวิจัยจากหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก และภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบด้วย ศ. ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ให้เป็นผู้รับทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. และ ศ. ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ ให้เป็นผู้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาสรีรวิทยา
งานวิจัยของ ศ. ดร.นทีทิพย์ เป็นการนำวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เช่น เกล็ดปลา ซึ่งอุดมด้วยแคลเซียม ฟอสฟอรัส และคอลลาเจน มาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมที่มีคุณภาพสูง ทั้งในรูปแคลเซียมผง แคลเซียมเม็ด และน้ำแร่แคลเซียม โดยขั้นตอนการสกัดเกล็ดปลาที่พัฒนาขึ้นนี้มีประสิทธิภาพสูง สามารถทำให้ได้ปริมาณแคลเซียมในรูปเกลือฟอสเฟตจำนวนมาก อีกทั้งไม่มีโลหะหนักในระดับที่เป็นอันตราย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจดสิทธิบัตรและเผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติ นอกจากนี้แคลเซียมจากเกล็ดปลายังเป็นวัตถุดิบอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม โดยสามารถเติมลงในอาหารและเครื่องดื่มได้ เนื่องจากคนไทยวัยผู้ใหญ่รับประทานแคลเซียมโดยเฉลี่ยค่อนข้างน้อยราว 300–400 มิลลิกรัมต่อวัน จากปริมาณที่แนะนำให้รับประทาน 800 มิลลิกรัมต่อวัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีแคลเซียมสูงและมีความหลากหลายชนิดของอาหาร จึงอาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยรับประทานแคลเซียมได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ส่วนงานวิจัยของ ศ. ดร. นพ.นรัตถพล เน้นการแก้ปัญหาด้านประสิทธิภาพของลำไส้ในการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น เหล็กและสังกะสี จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าลำไส้ดูดซึมแคลเซียมได้น้อยมากเพียงร้อยละ 15–20 ของปริมาณที่รับประทาน หากต้องการให้ประสิทธิภาพสูงกว่านี้จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ทั้งฮอร์โมนที่ควบคุมการดูดซึมแคลเซียม เช่น วิตามินดี โพรแลคติน หรือเอสโตรเจน ซึ่งกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม และไฟโบรบลาสต์โกรทแฟคเตอร์-23 ที่ยับยั้งการดูดซึมแคลเซียม เป็นต้น ตลอดจนสารอาหารบางประเภทที่รับประทานร่วมกับแคลเซียม เช่น น้ำตาลกลูโคส น้ำตาลกาแลคโตส และกรดอะมิโนบางชนิด ก็มีส่วนกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้ ดังนั้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมแคลเซียมจึงต้องปรับสัดส่วนของสารอาหารเหล่านี้ให้สมดุลกับปริมาณแคลเซียมจึงจะดูดซึมได้ประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ฮอร์โมนต่าง ๆ ที่ควบคุมสมดุลแคลเซียมของร่างกายประกอบกันเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อน การให้ฮอร์โมนเสริมจากภายนอกเพื่อกระตุ้นการดูดซึมแคลเซียม เช่น วิตามินดี จึงต้องทำโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้แพทย์และนักวิจัยสามารถประเมินประสิทธิภาพของการให้แคลเซียมเสริมได้ดียิ่งขึ้น จึงต้องมีงานวิจัยเพื่อค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่จะสามารถบอกได้ว่าร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้มากหรือน้อยเกินไป
ทั้งนี้กลุ่มวิจัยยังมีความร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อตอบโจทย์วิจัยที่ยากและท้าทาย ได้แก่ การให้แคลเซียมเสริมในผู้หญิงระยะให้นมบุตร การป้องกันกระดูกพรุนจากโรคธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน โรคเครียด และโรคซึมเศร้า การค้นหาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับโรคข้อเข่าเสื่อม การศึกษาฮอร์โมนที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายมีแคลเซียมสูงจนเกิดอันตราย การพัฒนากระดูกเทียมเพื่อการรักษากระดูกหัก และการปรับปรุงวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งแคลเซียมเสริม เป็นต้น
ในงานประชุมวิชาการครั้งนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลหลายด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร บรรยายเรื่อง “สมดุลของแคลเซียมและแร่ธาตุในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ” โดย ผศ. ดร.ละเอียด นาคกระแสร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “การใช้ไฟโบรบลาสต์โกรทแฟคเตอร์-23 เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเพื่อบอกถึงการรับประทานแคลเซียมที่เพียงพอ” โดย ผศ. ดร.กรรณิการ์ วงศ์ดี คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ด้านวัสดุศาสตร์ เรื่อง “การใช้วัสดุนาโนไฮดรอกซี่อะพาไทต์เพื่อพัฒนาไปใช้เป็นกระดูกเทียม” โดย ผศ. ดร.วีรพัฒน์ พลอัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และด้านอุตสาหกรรม เรื่อง “การพัฒนาผลิตภัณฑ์แคลเซียมเสริมจากวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม” โดย ดร.ปาหนัน สุนทรศารทูล จากหน่วยวิจัยด้านแคลเซียมและกระดูก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล