สคล. แนะ 7 วิธีลอยกระทงสร้างสุข พื้นที่ประกาศนโยบาย ปลอดแอลกอฮอล์ พลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย

สคล. แนะ 7 วิธีลอยกระทงสร้างสุข พื้นที่ประกาศนโยบาย ปลอดแอลกอฮอล์ พลุ ดอกไม้ไฟ โคมลอย สืบสานประเพณีแท้จริง “ร้อยเอ็ด” จัดใหญ่ “วราวุธ” เป็นประธานเปิด ขบวนแห่ มหรสพเต็มที่ แต่ปลอดเหล้า ปัจจัยเสี่ยง เตือนนทท. เมาหยัมเป เชิญสงบสติอารมณ์นอกพื้นที่

เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า เทศกาลแห่งความสุขที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มารวมตัวอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มักจะมีความเสี่ยงจากปัจจัยเสี่ยงตามมา ทั้งผู้คนเบียดเสียด พลุดอกไม้ไฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลวนลาม ทะเลาะวิวาท ต่อยตี และอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการดื่มแล้วขับ ดังนั้น เป็นเรื่องที่แต่ละพื้นที่ต้องร่วมกันออกแบบ จัดการปัจจัยเสี่ยง ซึ่งบทเรียนจากการทำงานของเครือข่ายงดเหล้า และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กว่า 15 ปี สามารถจัดประเพณีลอยกระทงสร้างสุข ด้วย 7 วิธี ดังนี้ 1. ประกาศเป็นนโยบายจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้า โดยร่วมมือจากทุกภาคส่วน จัดคณะทำงานดูแลควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน 2. ไม่ให้มีการเล่นประทัดยักษ์ โดยมีการประชาสัมพันธ์และมีคณะกรรมการออกตรวจตรา 3. ไม่ให้มีการปล่อยโคมลอย เสียงไฟไหม้ และกระทบกับสายการบิน และเกิดขยะ 4. ดูแลจุดเสี่ยงบริเวณท่าน้ำลอยกระทงไม่ให้ชำรุด หรือมีผู้คนหนาแน่น 5. ดูแลพื้นที่เสี่ยง เช่น ที่อับ ที่มืด ป้องกันเหตุล่วงละเมิทางเพศ ติดตั้งไฟส่องสว่าง ตรวจตราสถานบันเทิงไม่ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี ไปใช้บริการ 6. รณรงค์ใช้วัสดุธรรมชาติทำกระทง เพื่อลดขยะ และ 7. คงคุณค่าของประเพณี วัฒนธรรมอย่างแท้จริง

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ผลจากการทำงานมากกว่า 15 ปี พบว่า ธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมไทยในช่วงงานลอยกระทงเปลี่ยนแปลงไปมาก ประชาชนและนักท่องเที่ยวร้อยละ 80 เข้าใจวิถีการปฏิบัติตน เมื่อมาท่องเที่ยวในงานประเพณีหรือเทศกาลที่จัดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ โดยจะไม่ถือหรือนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามา ซึ่งช่วยให้ดูแลความสงบ เรียบร้อยในงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในการจัดงานใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดท่องเที่ยว 99 แห่ง ทั่วประเทศ และ 33 จุดในกรุงเทพมหานคร ที่สคล.และ สสส. เข้าไปสนับสนุนการจัดงานปลอดเหล้า อย่างไรก็ตาม ต้องระวัง และจับตาการตลาดจากธุรกิจแอลกอฮอล์ที่จะเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการดื่มการขายในพื้นที่จัดงานในรูปแบบลานเบียร์ เพราะสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้คนอึดอัดมานาน จึงอาจเป็นช่องทางในการส่งเสริมการขาย ซึ่งจะตามมาด้วยอุบัติเหตุและอันตรายในพื้นที่ที่ขาดการควบคุมได้



ด้าน ดร.นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในการจัดงานเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ สงกรานต์ หรือลอยกระทงของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดได้ร่วมกับ สสส. และสคล. ในการจัดงานบุญปลอดเหล้า ปลอดปัจจัยเสี่ยงอย่างเข้มข้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี อย่างเทศกาลลอยกระทง ปีนี้จะมีการจัดงาน 2 วันคือวันที่ 7- 8 พฤศจิกายน มีทั้งขบวนแห่ การประกวดธิดาสระเกศ มีดนตรีมหรสพได้ตามปกติแต่ และในวันที่ 8 พฤศจิกายนจะมีนายวรวุฒิ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเปิดงานให้ด้วยเนื่องจากการจัดงานของเราจะเน้นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะมีมาตรการคุมเข้มไม่ให้มีการจุดพลุ ปล่อยโคมลอย และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในพื้นที่การจัดงาน บริเวณบึงพลาญชัยและบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีการจัดเจ้าหน้าที่กวดขันตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงต่างๆ และบุคคลเสี่ยง เช่น หากพบว่ามีคนเมาครองสติไม่ได้ จะเชิญให้ออกไปสงบสติอารมณ์นอกพื้นที่จัดงาน เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านนมาก็จัดเช่นนี้และได้ผลดีประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ความร่วมมือดี