บทบาทขององค์การสันนิบาตมุสลิมโลกในการเสวนาระดับนานาชาติ
บทบาทขององค์การสันนิบาตมุสลิมโลกในการเสวนาระดับนานาชาติ
องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกเป็นองค์กรศาสนาอิสลามนานาชาติ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองมักกะห์ อัล-มูคาร์รามะห์ มีจุดประสงค์ในการเผยแผ่อิสลามที่แท้จริงและสร้างสะพานแห่งการร่วมมือทางอิสลามและมนุษยธรรมสำหรับทุกคน องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกจัดตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน และได้เป็นตัวแทนในองค์การสหประชาชาติในฐานะองค์กรผู้สังเกตการณ์ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม เช่นเดียวกับองค์กรเอกชนระหว่างประเทศอีกหลายแห่ง องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกยังเป็นผู้สังเกตการณ์ในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นสมาชิกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และเป็นสมาชิกของ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) อีกด้วย
เป้าหมายขององค์การคือการเผยแผ่ความจริงเกี่ยวกับศาสนาอิสลามผ่านเป้าหมายต่าง ๆ เช่น การให้ความหมายของอิสลามและการอธิบายความจริงและคุณค่าอันบริสุทธิ์ตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์กุรอานและซุนนะห์ และการรวบรวมความเข้าใจเกี่ยวกับหลักศาสนาสายกลางและหลักความเป็นธรรมในหมู่ชาติมุสลิม ในขณะเดียวกันองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมอิสลาม และขจัดความขัดแย้งและการต่อสู้ ยิ่งไปกว่านั้นองค์การได้จัดการด้านการสื่อสารสมัยใหม่ เผยแผ่วัฒนธรรมแห่งการพูดคุย ให้ความสนใจกับชาวมุสลิมกลุ่มน้อย และพูดคุยกับพวกเขาเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญ ในช่วงเทศกาลฮัจญ์ องค์การได้มอบโอกาสให้ปราชญ์ศาสนา บุคลากรที่มีความรู้ และหัวหน้าขององค์กรต่าง ๆ มาหารือกันเพื่อมองหาแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อยกระดับสถานะของชาวมุสลิมในโลก พร้อมทั้งปกป้องอัตลักษณ์ของสังคมมุสลิม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้และสร้างการเสวนาในระดับนานาชาติระหว่างศาสนาและนิกายต่าง ๆ องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้จัดงานประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนเป้าหมาย ซึ่งงานที่โดดเด่นที่สุดคือกฎบัตรมักกะห์ซึ่งจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ในช่วงของการประชุมนานาชาติเพื่อการเผยแผ่วัฒนธรรมสายกลาง กฎบัตรมักกะห์ถือเป็นเวทีแห่งสันติภาพ การอนุรักษ์คุณค่าของอิสลามสายกลางในหมู่ประเทศอิสลาม การต่อต้านการก่อการร้ายและความคิดหัวรุนแรงทุกรูปแบบ และการให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน มีข้อบัญญัติรวมทั้งสิ้น 17 ข้อ ได้รับการอนุมัติโดยปราชญ์มุสลิม 1,200 คน จาก 139 ประเทศ รวมถึงนิกายและกลุ่มศาสนาอีก 27 แห่ง ข้อบัญญัติที่สำคัญที่สุดคือการต่อต้านการคำสอนที่ไม่เป็นธรรม เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติ และการเรียกร้องการพูดคุยอันมีอารยธรรมเพื่อบรรลุสันติภาพที่เที่ยงธรรมและครอบคลุม กฎบัตรมักกะห์ได้รับการแปลเป็นหลายภาษารวมทั้งเยอรมัน สเปน สวีเดน อูรดู และภาษาฝรั่งเศส
ด้วยความพยายามที่จะดึงกลุ่มในโลกอิสลามที่หลากหลายเข้าด้วยกัน องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้จัดการประชุม “ปฏิญญาว่าด้วยสันติภาพในอัฟกานิสถาน” ในเดือนมิถุนายน เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของปราชญ์ศาสนาจากประเทศอัฟกานิสถานและปากีสถาน เพื่อนำสันติภาพมาสู่ประเทศอัฟกานิสถานและสนับสนุนบทบาทของปราชญ์ศาสนาในการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาค องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกยังได้จัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ได้เชิญนิกายต่าง ๆ ในประเทศอิรักมาพูดคุยกันเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การเสวนาอย่างมีอารยธรรม และการต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรงและความรุนแรงในโลกรวมถึงในประเทศอิรัก มีการจัดตั้งช่องทางการสำหรับการเสวนาที่สร้างสรรค์ระหว่างปราชญ์ศาสนาจากนิกายต่าง ๆ การประชุมนี้เข้าร่วมด้วยนิกายชีอะห์ สุนหนี่ และกลุ่มชนชาวเคิร์ด โดยการประชุมได้บรรลุฉันทมติในการจัดตั้งหน่วยงานสำหรับการเสวนาทางวัฒนธรรมระหว่างนิกายและกลุ่มศาสนาต่าง ๆ ในสังคมอิสลาม
ภายใต้การนำขององค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ได้มีการจัดการประชุมด้านสันติภาพและความสามัคคีขึ้นในกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2562 ตัวแทนจาก 40 ประเทศได้เข้าร่วมการประชุมและเรียกร้องการยอมรับความต่างทางศาสนา และยกระดับความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างผู้นับถือศาสนาอิสลาม คริสต์ และศาสนายิวในประเทศฝรั่งเศส ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้เดินทางไปที่ค่ายกักกันเอาช์วิชซ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว เพื่อเป็นการยืนยันการต่อต้านอาชญากรรมที่โหดร้ายและแสดงให้เห็นว่าศาสนาอิสลามรวมถึงค่านิยมของศาสนานั้นไม่ใช่การเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน
เมื่อปีที่แล้ว เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก ดร.มูฮัมหมัด บิน อับดุล กะรีม อัลอีซา ได้พบกับผู้นำคริสเตียนอีวานเจลิคัลในประเทศสหรัฐอเมริกาหลายท่าน เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่มีความกังวลร่วมกัน ซึ่งรวมถึงวิธีการส่งเสริมการเสวนาระหว่างผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ และความพยายามร่วมกันเพื่อลดวาทะที่สร้างความเกลียดชัง รวมถึงการใช้ศาสนาและสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในทางที่ผิด
เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2564 องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้จัดการประชุม “คุณค่าร่วมของผู้นับถือศาสนา” ในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยมีผู้นำศาสนาจากศาสนาอิสลาม คริสต์ ยิว ฮินดู พุธ และศาสนาอื่น ๆ เข้าร่วม การประชุมได้เรียกร้องการเสวนาและความร่วมมือกันระหว่างศาสนา ส่งเสริมความเท่าเทียมในมวลมนุษยชาติ ส่งเสริมความเหมือนกันของมนุษย์ผ่านความเข้าใจด้านศาสนาและวัฒนธรรมระหว่างผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ ป้องกันการเกิดการปะทะทางอารยธรรม ส่งเสริมคุณค่าของมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างประเทศและประชาชน สนทนาเกี่ยวกับศาสนาสายกลาง พยายามทำความเข้าใจผู้อื่น และป้องกันไม่ให้ความหลากหลายกลายเป็นความกลัว ความเกลียดชัง และความขัดแย้ง ในการประชุมนี้ องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้นำเสนอคำสอนที่แท้จริงของศาสนาอิสลามที่เรียกร้องถึงความร่วมมือ การเสวนา และการเข้าถึงผู้ร่วมงานทุกคน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในโลกอย่างดีที่สุด
นอกเหนือจากนี้องค์การสันนิบาตมุสลิมโลกได้จัดการประชุมของปราชญ์ศาสนาครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ประเทศมาเลเซีย ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ร่วมเข้าประชุมโดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียและผู้นำศาสนา 44 คน จาก 17 ประเทศ การประชุมได้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมความอดทนอดกลั้นและการเคารพในสิทธิของผู้อื่นเพื่อความมั่นคงและสันติภาพ การประชุมยังได้จัดตั้งสภาปราชญ์ศาสนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ โดยอยู่ภายใต้องค์การสันนิบาตมุสลิมโลก
ดร.มูฮัมหมัด บิน อับดุล กะรีม อัลอีซา เลขาธิการองค์การสันนิบาตมุสลิมโลก และผู้ร่วมจัดตั้งการประชุมสุดยอดผู้นำทางศาสนาของกลุ่ม G20 (R20) เป็นผู้สนับสนุนค่านิยมด้านความเท่าเทียมกันของมนุษย์และการสร้างการเสวนาระหว่างศาสนาต่าง ๆ เพื่อความร่วมมือและการยอมรับความต่างระหว่างมนุษย์โลก ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อเสวนาหลักในการประชุมครั้งแรกของกลุ่ม G20 ในครั้งนี้ หัวข้อหลักของการประชุม R20 คือ “ใช้ศาสนาเพื่อแก้ปัญหาระดับโลก ความร่วมมือระหว่างประเทศที่นำโดยค่านิยมร่วมทางศีลธรรม” โดยการประชุมตั้งเป้าขยายบทบาทเชิงบวกของศาสนาต่าง ๆ ด้วยการเชิญผู้นำศาสนามาเข้าร่วมเพื่อสร้างการประสานงานร่วมกัน และเรียกร้องให้ศาสนาและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ส่งเสริมระเบียบโลกที่คำนึงถึงกฎระเบียบ ค่านิยม มนุษยธรรม และศีลธรรมที่มีร่วมกัน