“สทน.” จับมือ “มรภ.เชียงราย” ยกระดับ “อาหารพื้นบ้านล้านนา” ด้วย “เทคโนโลยีฉายรังสี”

“สทน.” จับมือ “มรภ.เชียงราย” เดินหน้ายกระดับ “อาหารพื้นบ้านล้านนา” ด้วยนวัตกรรมอาหารปลอดภัยจาก “เทคโนโลยีฉายรังสี”
เมื่อพูดถึง “อาหารฉายรังสี” เชื่อว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเข้าใจกันดีแล้ว ว่า “ปลอดภัย” แต่ในส่วนของผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่น อาจยังลังเลใจในเรื่องความคุ้มค่ากับการลงทุน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย จัดกิจกรรมอบรมสัมมนาให้ความรู้ภายใต้หัวข้อเรื่อง “พัฒนาอาหารพื้นถิ่น สู่มาตรฐานสากล เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชน ด้วยเทคโนโลยีฉายรังสี” เพื่อเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการอาหารพื้นถิ่นในจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง ได้เห็นโอกาสทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

เชียงราย เป็นจังหวัดที่มีอาหารพื้นถิ่นและสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ เช่น ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง ข้าว สับปะรด ฯลฯ ที่มีศักยภาพในการพัฒนา ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสี เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการขยายช่องทางการตลาดได้ ทั้งนี้ “การฉายรังสี” เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในอาหาร ที่มาจากการแปรรูปเพื่อถนอมอาหารตามภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ อีกทั้ง “อาหารฉายรังสี” ยังเป็นมาตรฐานการบริโภคปลอดภัยที่สากลให้การยอมรับด้วย
ภายในงาน สทน. ยังได้เปิดรับสมัครผู้ประกอบการภาคเหนือ ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นเข้าร่วมโครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ตั้งแต่ค่าขนส่งผลิตภัณฑ์มาทดลอง ค่าฉายรังสี ค่าตรวจวิเคราะห์เชื้อ รวมถึงค่าดำเนินการต่างๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ในระบบออนไลน์ โดยสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ตั้งแต่บัดนี้ ถึง วันที่15 ธันวาคม 2565



สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารด้วยการฉายรังสี” / “future food trend และงานพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในท้องถิ่น” / “การขออนุญาต อย. กับอาหารพื้นถิ่น” และการบรรยาย เรื่อง “การตรวจสอบการเจือปนน้ำตาลในน้ำผึ้ง และน้ำผลไม้ ด้วยเทคนิควิเคราะห์ไอโซโทปเสถียร”
รวมทั้งเสวนาพูดคุยกับผู้ประกอบการตัวจริงที่ประสบความสำเร็จด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการฉายรังสี ได้แก่ คุณพรเทพ เทพเสนา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไทยอินโนฟู้ด จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “แหนมสไลด์ แหนมตุ้มจิ๋ว” ตราสุทธิลักษณ์ และคุณวสันต์ กอบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัท แคร์ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ฉัยรัย ปูไข่ดองฉายรังสี”



ทั้งนี้ สทน. จะเดินหน้าจัดกิจกรรมครั้งต่อไป ในวันพุธที่ 9 พฤศจิกายน โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ และในวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน โดยร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามชมได้ผ่าน ทาง Facebook Live Fanpage และช่อง You tube ของ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. ตั้งแต่เวลา 09.00 – 13.00 น.

สทน. เปิดรับสมัครผู้ประกอบการภาคเหนือที่ประสบปัญหาในการผลิตหรือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่นเข้าร่วมโครงการ “การสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่นด้วยการฉายรังสี” ทั้งนี้ เมื่อผ่านการคัดเลือกแล้ว ผู้ประกอบการจะได้รับคำปรึกษาแนะนำ พร้อมนำผลิตภัณฑ์มาตรวจวิเคราะห์ และทดลองฉายรังสีได้ โดยนักวิจัยของสทน. จะเป็นผู้ดูแลการวิจัยและสรุปผลการวิจัยให้ผู้ประกอบการ โดยสทน.จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าขนส่งผลิตภัณฑ์มาทดลอง ค่าฉายรังสี รวมถึงค่าดำเนินการทดลองต่างๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้

ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 15 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
สามารถดาวน์โหลดเอกสารใบสมัครได้ที่ https://bit.ly/3Ni30VS
สามารถกรอกใบสมัครแบบออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3DLdKZP
ช่องทางการส่งใบสมัคร
Line OA : https://lin.ee/4dfso41
อีเมล์ : nat-nuang@hotmail.com
โทรศัพท์ 081-906-5165
ติดต่อสอบถาม
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
โทรศัพท์ 0854874009 และ 081-906-5165