ครั้งแรกอาเซียนประชุม ‘แก้ว’
โชว์ศักยภาพความพร้อมไทย
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านแก้ว ประจำปี 2558 (ICG Annual Meeting 2015) ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงฯโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เป็นครั้งแรกในอาเซียน แสดงศักยภาพความพร้อมของไทยโดยเฉพาะ วศ. ให้บริการครบวงจร วิเคราะห์ทดสอบ วิจัยพัฒนา ให้คำปรึกษา
ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีของประเทศไทย ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติด้านแก้วครั้งนี้ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกเข้าร่วมงานกว่า 260 ท่าน ซึ่งนอกจากจะเป็นการแลกเปลี่ยนหารือทางวิชาการจากอาจารย์ นักวิชาการ แล้ว ยังได้มีการแลกเปลี่ยนด้านเทคนิก การค้า ทั้งจากนักอุตสาหกรรม และนักธุรกิจ เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักประเทศไทยไม่เพียงเฉพาะทางวิชาการเท่านั้น ทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจจะได้ใช้ประโยชน์จากแก้ว ซึ่งมีการใช้ต่อเนื่องในอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการใช้แก้วสูงมาก อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความต้องการมาตรฐานการทดสอบสูงยิ่ง กรมวิทยาศาสตร์บริการจะเป็นหน่วยงานหลักโดยเฉพาะการให้บริการทดสอบด้านแก้วให้เป็นไปตามหลักวิชาการ จะยังประโยชน์ให้มีการหมุนเวียนต่อเศรษฐกิจไทย
ดร. สุทธิเวช ต.แสงจันทร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการเป็นสมาชิกของ International Commission on Glass (ICG) มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านแก้วที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีสมาชิกประกอบด้วยสถาบันด้านแก้ว มหาวิทยาลัย องค์กรภาคเอกชน และผู้ประกอบการจากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อที่ดีระหว่างงานวิจัยและวิชาการ กับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การจัดงานครั้งนี้เป็นการแสดงศักยภาพความพร้อม โดยเฉพาะ วศ. พร้อมให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมแก้ว ให้บริการครอบคลุมทั้งด้านบริการวิเคราะห์ทดสอบ วิจัยพัฒนา การให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะทางวิชาการต่อผู้ประกอบการ
ภายในงานยังมีการมอบรางวัล Tuner Awards เป็นรางวัลที่ให้สำหรับผู้มีส่วนร่วมที่สำคัญ ของคณะกรรมการด้านเทคนิค ของ ICG ปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล ซึ่งมาจากประเทศเยอรมนี ทั้ง 2 ท่าน คือ 1.ดร. Detlef Kaepsel และ 2. Prof. Volker Rupertus และรางวัล Gottardi Prize เป็นรางวัลประจำปีมอบให้บุคคลรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จ อย่างโดดเด่น ในด้านแก้ว ทั้งด้านการทำวิจัย การสอน ปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัล คือ Prof. Delia S. Brauer จาก The Carl Zeiss Foundation Otto Schott Institute of Materials Research (OSIM) , Friedrich Schiller University
อีกทั้งการจัดแสดงโปสเตอร์ผลงานวิชาการ ตัวอย่างโปสเตอร์เรื่องที่น่าสนใจ เป็นผลงานวิจัยด้านแก้วคุณสมบัติพิเศษ เช่น แก้วที่ใช้ในไฟเบอร์ออฟดิก, ใยแก้วนำแสง, Glass Ceramic ซึ่งเป็นแก้วที่มีคุณสมบัติเป็นทั้งแก้วและเซรามิคในส่วนเดียวกัน และ Bioactive Glass แก้วสำหรับทางการแพทย์
ทั้งนี้งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านแก้ว ประจำปี 2558 (ICG Annual Meeting 2015) จัดตั้งแต่วันที่ 20-23 กันยายน 2558 ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด กรุงเทพฯ