สธ. หนุน “ส้วมไทย” พัฒนาตามมาตรฐาน HAS พร้อมรับนักท่องเที่ยว
กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์วันส้วมโลก ปี 2565 (World Toilet Day 2022) เผยผลการพัฒนา ส้วมสาธารณะไทยให้ได้มาตรฐาน HAS ล่าสุดมีส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 67 หรือ จำนวน 99,814 แห่ง เปิดผลอนามัยโพล พบว่า ส้วมสาธารณะที่ประชาชนต้องการให้ปรับปรุงมากที่สุด คือ ตลาดสด ร้อยละ 68
วันนี้ (11 พ.ย.65) ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันส้วมโลก 2565 (World Toilet Day 2022) ณ กรมอนามัย ว่า วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ของทุกปี องค์การส้วมโลก (World Toilet Organization) ได้กำหนดให้เป็นวันส้วมโลก โดยในปี 2565 นี้ ได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด คือ “Making the invisible visible : ทำสิ่งที่มองไม่เห็น ให้มองเห็นได้” เพื่อพัฒนาระบบสุขาภิบาลให้สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเสียจากมนุษย์ไม่ให้ลงสู่แหล่งน้ำ เน้นการควบคุม การแพร่กระจายของเชื้อโรค ทั้งระบบใต้ดินและบนดิน ด้วยการจัดให้มีระบบเก็บกักและบำบัดของเสียที่มีประสิทธิภาพ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกคนได้ใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครัวเรือน และพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐาน HAS: สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกต้อง สอดคล้องกับกิจกรรมรณรงค์วันส้วมโลกประจำปี 2565 ของประเทศไทย “ท่องเที่ยวอย่างมั่นใจ ส้วมสาธารณะไทยได้มาตรฐาน” เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการในสถานที่ต่าง ๆ ได้ร่วมกันพัฒนาส้วมสาธารณะให้ถูกสุขลักษณะ ได้มาตรฐานความสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย โดยเฉพาะส้วมในสถานที่ท่องเที่ยว สถานีขนส่งสาธารณะ และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ จากการเปิดประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยส่งเสริมให้ประชาชน มีและใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีส้วมใช้ครอบคลุมมากถึง ร้อยละ 99.8 และยังไม่มีส้วมใช้ ร้อยละ 0.2 หรือประมาณ 40,000 กว่าครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ยากลำบาก และในกลุ่มชาติพันธุ์ จึงจำเป็นต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุน ให้ทุกครัวเรือนมีส้วมใช้ให้ครอบคลุม 100 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ข้อมูลการพัฒนาส้วมสาธารณะในประเทศไทย ปี 2562 – 2565 จำนวนรวม 186,041 แห่ง ได้ดำเนินการสุ่มตรวจประเมิน 99,814 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน (HAS) จำนวน 66,907 แห่ง หรือ คิดเป็นร้อยละ 67.03 ส่วนผลสำรวจอนามัยโพลของประชาชน ต่อการใช้ส้วมสาธารณะ ระหว่างวันที่ 14 – 21 ตุลาคม 2565 จำนวน 3,716 คน พบว่า ส้วมสาธารณะที่ประชาชน เห็นว่าควรปรับปรุงมากที่สุด คือ ส้วมในตลาดสด ร้อยละ 68.68 รองลงมา คือ สวนสาธารณะ ร้อยละ 39.85 และส้วมริมทางสาธารณะ ร้อยละ 38.48
สำหรับส้วมสาธารณะที่สะอาดที่สุด คือ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า ร้อยละ 68.46 รองลงมา คือ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ 55.30 และโรงพยาบาล ร้อยละ 35.82 โดยเหตุผล ในการเลือกใช้ส้วมสาธารณะ คือ ความสะอาด ความปลอดภัย และความสะดวก
ดังนั้น วันส้วมโลกปีนี้ กรมอนามัย ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกแห่งร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงส้วมสาธารณะของไทยให้ได้มาตรฐาน ซึ่งนอกจาก จะสร้างสุขอนามัยที่ดี ลดโรคไม่พึงประสงค์แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ ประเทศไทยอีกด้วย