CPF ผนึกพลังคู่ค้า SMEs เป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดอบรมแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันสำหรับคู่ค้าธุรกิจ SME (CAC Training for CPF’s SMEs Supplier 2022) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ให้กับคู่ค้า SME จำนวนกว่า160 บริษัท เพิ่มความหนักรู้และแบ่งปันประสบการณ์การดำเนินการป้องกันการให้สินบนและทุจริต ส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานด้านความโปร่งใส และแนวปฏิบัติป้องกันและต่อต้านการทุจริต และปีนี้มีคู่ค้า SMEs อีกกว่า 20 บริษัทพร้อมจับมือกับ CPF ประกาศเป็นแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชน
นางสาวธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การอบรมแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันสำหรับคู่ค้าธุรกิจ SMEs (CAC Training for CPF’s SMEs Supplier 2022) ที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันให้แก่คู่ค้าธุรกิจของ CPF ภายใต้แนวคิด “ร่วมคิด ร่วมสร้าง สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งเน้นให้คู่ค้า SMEs ได้รู้จักและรับทราบการดำเนินงานแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านทุจริต สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ให้กับคู่ค้า SMEs เห็นความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ซึ่งตลอดจนสนับสนุนคู่ค้าธุรกิจเข้าร่วมเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของ CPF และคู่ค้าให้เติบโตไปด้วยกัน
“CPF ขอบคุณคู่ค้า SMEs ที่ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือกันป้องกันการทุจริตและคอร์รัปชัน เพื่อลดความเสี่ยงการดำเนินงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถทางการแข่งขันสูงขึ้น ได้รับการยอมรับจากองค์กรขนาดใหญ่ นับเป็นการสร้างโอกาสให้ SMEs เติบโตเป็นองค์กรระดับโลกต่อไป และเป็นพลังร่วมขจัดปัญหาคอร์รัปชันซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ” นางสาวธิดารัตน์กล่าว
การอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายพนา รัตนบรรณางกูร ผู้อำนวยการแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานที่โปร่งใส การพัฒนาระบบป้องกันความเสี่ยงสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ตอบรับความต้องการขององค์กรขนาดใหญ่ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG (Environment Social Governance) ยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี รวมทั้ง แนะนำขั้นตอนการเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ในโครงการ CAC SME Certification ให้การรับรองว่าผู้ประกอบการ SMEs มีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการจ่ายสินบนครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนด
สำหรับในปีนี้ มีคู่ค้า SMEs จำนวน 20 บริษัทเข้าร่วมโครงการ CAC SME Certification ซึ่ง CPF มีแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยการจัดอบรมให้ความรู้ ให้คำปรึกษาและช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยื่นขอรับรอง ซึ่งการได้รับ CAC Certified จะช่วยสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ในการดำเนินธุรกิจกับซีพีเอฟและบริษัทรายอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับคู่ค้าที่ดำเนินงานมีธรรมาภิบาล และโปร่งใส โดยมีเป้าหมายที่สร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตอาหารที่ปราศจากคอร์รัปชัน และโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและผู้บริโภคทั่วโลก./