วงการบันเทิงไทยจีน จับมือกัน ร่วมพลักดันธุรกิจบันเทิง
วงการบันเทิงไทยจีน จับมือกัน ร่วมพลักดันธุรกิจบันเทิง เพิ่ม “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุ และโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย” ในวาระครบรอบ 47 ปี “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน (National Radio and Television Administration) หรือ NRTA ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, บริษัท เซนจูรี่ ยูยู เทคโนโลยี จำกัด และสถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลเจียงซู ประเทศจีน จัดกิจกรรมงานเสวนา “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิทยุและโทรทัศน์ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุ และโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอุตสาหกรรมด้านความบันเทิงของจีน–ไทย รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์ในการส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจความบันเทิงและวัฒนธรรม เพื่อให้เป็นไปในทิศทางการสร้างเนื้อหาเป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดจนการผลิตเนื้อหาของภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ หรือเนื้อหาทางด้านให้ความบันเทิง เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน
นายเหยน เฉิงเซิ่ง อธิบดีกรมการต่างประเทศสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน สำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน (National Radio and Television Administration) เปิดเผยว่า ปัจจุบันหลายคนไม่อาจปฏิเสธถึงความสำคัญในการใช้อินเทอร์เน็ต รวมทั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีดิจิทัลได้ เพราะตั้งแต่ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้แพร่หลายเป็นวงกว้าง เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วโลกได้เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกมีพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ผู้คนส่วนใหญ่จะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล โทรศัพท์มือถือ เป็นของส่วนตัว ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อไว้ใช้ทำงาน ติดต่อสื่อสาร อำนวยความสะดวก หรือประโยชน์อย่างอื่น อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในแต่ละประเทศได้ให้ความสำคัญ ในการใช้งานอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้โลกใน ยุคปัจจุบันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล การเผยแพร่ข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล การติดต่อสื่อสาร การดำเนินงาน ทางด้านธุรกิจ การทำธุรกรรมต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งการใช้เวลาว่างในการหาความบันเทิงทางด้านภาพยนตร์ ละคร และ ซีรีส์
หลายปีที่ผ่านมา ภาคส่วนสื่อวิทยุและโทรทัศน์จีน-ไทย ได้มีความร่วมมือกันอย่างรอบด้าน จุดประกายความร่วมมือด้านวัฒนธรรมอย่างโดดเด่นระหว่างสองฝ่ายและทั่วภูมิภาค สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์และวิทยุ รวมถึงพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลให้เจริญก้าวหน้า ที่ได้มุ่งสู่การส่งเสริมอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์จีน-ไทยให้พัฒนาร่วมกัน
โดยสำนักงานวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติจีน จึงได้ดำเนินการกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และร่วมจัดงานโดยบริษัท เซนจูรี่ ยูยู เทคโนโลยี จำกัด และ สถานีวิทยุและโทรทัศน์มณฑลเจียงซู ประเทศจีน ในการจัดกิจกรรมงานเสวนาออนไลน์ระหว่างประเทศ “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านวิทยุและโทรทัศน์ภายใต้หัวข้อ “โอกาสและศักยภาพความร่วมมือในวงการอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ระหว่างจีน-ไทย” พร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การแสดงบทบาทเสริมสร้างความมั่นคงเสถียรภาพในการพัฒนามิตรไมตรีสัมพันธ์ระหว่างจีนไทย, การสานบทบาทในการเป็น “เครื่องขยายเสียง” แห่งการกระชับมิตรไมตรีสัมพันธ์ และสานบทบาทในการเป็นจักรกลขับเคลื่อนความก้าวหน้าร่วมกัน โดยใช้โอกาสใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยี ผ่านการเสวนาที่พูดถึงวงการด้านอุตสาหกรรมวิทยุและโทรทัศน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศไทยใน รวมถึงนิทรรศการเผยแพร่รายการดีเด่นจีน-ไทย เป็นต้น”
นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บมจ.บีอีซี เวิลด์ กล่าวว่า “บีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 มีการจัดทำละครมาทุกรูปแบบเพื่อตอบสนองความนิยมของคนไทยเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและพื้นฐานการรับชมของดูเปลี่ยนไป ความเป็นสากลที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เรามีผู้ชมจากหลายประเทศ ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในนั้นและเป็นผู้ชมส่วนใหญ่ของช่อง 3 และทำให้แนวโน้มการทำงานเราเปลี่ยนแปลงในทิศทางการทำละครที่ตอบโจทย์คนดูในประเทศจีนมากขึ้น ที่มากกว่านั้นคือในระยะต่อไป เราอาจจะร่วมมือกับประเทศจีน และหยิบรสนิยมของคนไทย-จีน ที่คล้ายกันมาศึกษา ใช้กับการเล่าเรื่อง ออกแบบฉาก วางแนวทางการทำละครให้มีคุณภาพ เพื่อสร้างตอบความต้องการทั้งในตลาดไทยและจีน”
ด้าน นางอรุโณชา ภาณุพันธุ์ ผู้จัดละครและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น จำกัด และโปรดิวเซอร์ละคร “บุพเพสันนิวาส” เผยว่า สำหรับประเทศไทย จีน หรือในเอเชียที่มีวัฒนธรรมบางส่วนคล้ายคลึงกัน เราต้องดูกฎระเบียบหรือศึกษาการเซ็นเซอร์เนื้อหาให้เหมาะสมกับบริบทในประเทศนั้น ๆ ส่วนด้านเนื้อหาก็ต้องคัดสรรมาเป็นอย่างดี มีความสนุกสนาน เช่นละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ก็เป็นบทพิสูจน์ว่าเราสามารถสอดแทรกวัฒนธรรมไปในละครได้ เราได้แสดงถึงความแข็งแรงด้าน Soft Power ที่ครอบคลุมเรื่องการแต่งกาย อาหารไทย การท่องเที่ยว ผ่านตัวบทละครที่ดีและการสร้างสรรค์บนความตั้งใจ เพื่อให้งานออกมามีคุณภาพ และสามารถสร้างกระแสสร้างเรตติ้งได้สูง แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีปัจจัยด้านดิจิทัลเข้ามา แต่ถ้าเรามีเนื้อหาคอนเทนต์ที่คนดูชอบ พวกเขาก็ยังเลือกดูทีวีอยู่
“ดังนั้น การทำเนื้อหาต่อ ๆ ไป จึงเป็นการบ้านที่ประเทศไทย ต้องให้ความสนใจที่จะเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย รวมทั้งประเทศจีน เพราะเนื้อหาทั้งด้านบทประพันธ์หรือบทโทรทัศน์จะกลายเป็นส่วนที่สำคัญ และทำให้งานโปรดักชั่นออกมาดี มีความสมจริงละเอียด และเป็นละครที่คนเข้าใจได้ทั่วโลก”
รศ.ดร. ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า “ในแง่ของวิชาการแล้ว สมัยก่อนเราสอนบุคลากรด้านสื่อโดยนึกถึงเฉพาะการทำงานสเกลในประเทศไทยทั้งสิ้น แต่ทุกวันนี้ที่เราต่างมีละครชมผ่านแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่งต่าง ๆ ที่ผู้ชมมีจำนวนมากขึ้นและไม่ใช่เฉพาะผู้ชมในประเทศอย่างเดียว มีจำนวนผู้ชมนับรวมไปถึงต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ชมชาวจีนที่ชื่นชอบละครไทยอย่างมาก มันจึงเป็นโอกาสใหม่ ๆ ที่เราต้องพัฒนาการสอนหรือฝึกการทำงาน โดยต้องคิดไปถึงสเกลที่ใหญ่กว่าผู้ชมในประเทศ หรือด้านการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ก็ต้องคำนึงถึงตลาดโลก และนี่ก็เป็นโอกาสที่ดีในภายภาคหน้า ที่เราจะได้เห็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีน ศึกษาผู้บริโภคของทั้งสองประเทศร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์งานที่ดีต่อไปในอนาคต”
ด้าน นายตฤนธัฬห์ ดนพ ผู้กำกับซีรีส์และภาพยนตร์ ภายใต้บริษัท จินเล่อ มีเดีย เวิร์ค จำกัด กล่าวว่า “วิสัยทัศน์หลักขององค์กรคือการเปิดโลกที่ไร้พรมแดน ซึ่งมีความคล้ายกับวัฒนธรรมบนออนไลน์แทบจะทุกประเทศ ที่มักมีเทรนด์มีกระแสมีการทำตามกัน หรือมีการอลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นรวดเร็วในสื่อใหม่ ๆ ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นเรื่องที่ดีสำหรับ New Media ที่หากเราต้องการทำละครสักเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่ว่าเราจะคิดถึงคนดูเฉพาะในประเทศไทยหรือจีนได้อย่างเดียว เราอาจต้องมองถึงคนดูทั่วโลกด้วยซ้ำ รวมทั้ง เราอาจต้องดูในแง่ของเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น สมัยก่อนละครจีนในไทยส่วนใหญ่เป็นเรื่องกำลังภายในหรือราชสำนัก แต่ปัจจุบันเราจะเห็นแฟนซีรีส์เนื้อหาวัยรุ่นมากขึ้น เพราะถ้าเราจับกระแสได้อย่างหนึ่ง เราจะทำได้ทั้งสร้างกระแส เป็นผู้นำกระแส หรือเอากระแสที่มีอยู่เดิมมาใช้ได้ และสามารถสร้างละครที่เป็นที่ชื่นชอบของทั่วโลกได้เช่นกัน”