เครือข่ายประชาสังคมลดผลกระทบจากสุรานานาชาติ 10 ประเทศ
เครือข่ายประชาสังคมลดผลกระทบจากสุรานานาชาติ 10 ประเทศ ยอมรับการตลาดธุรกิจสุราออนไลน์ หลังโควิด-19 น่าห่วง หวังใช้ SAFER แก้ปัญหา ชี้ กังวลต่อการเสนอแก้กฎหมายของไทย ให้ผลิตเพื่อขายเสรี และยกเลิกเวลาห้ามขาย ยันไทยไม่ควรสูญเสียเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องประชาชนจากภัยสุรา
เครือข่ายงดเหล้า ร่วมกับ Movendi International, IOGT-NTO Movement และ International Health Policy Program (IHPP) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประสบการณ์ของภาคประชาสังคมในประเด็น นโยบายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการดำเนินการของชุมชนเพื่อลดผลกระทบจากการทำการตลาดของภาคธุรกิจ และลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มี 10 ประเทศเข้าร่วมได้แก่ สวีเดน, บอสเนีย&เฮอเซโกวินา, เซอร์เบีย, มอนเตเนโก, ศรีลังกา, เมียนม่า, สปป.ลาว, เวียดนาม, กัมพูชา และภาคประชาสังคมลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเทศไทย
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การเร่งทำการตลาดของภาคธุรกิจแอลกอฮอล์หลังจากสถานการณ์โควิด เกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การเน้นการโฆษณาผ่านออนไลน์ และการขายผ่านออนไลน์ แบบ on-demand ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่เป็นข้ามข้อบังคับระหว่างประเทศ (Marketing Cross Border) รวมทั้ง การทำการตลาดในกลุ่มเยาวชนโดยสนับสนุนงานดนตรี กีฬาศิลปวัฒนธรรม การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่างๆ มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกได้เร่งสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ นำมาตรการนโยบายที่มีประสิทธิภาพไปดำเนินการ SAFER 5 ด้าน ได้แก่ การห้ามการโฆษณาส่งเสริมการขายเพื่อลดแรงจูงใจ, การขึ้นภาษีเพื่อสุขภาพ, การจำกัดการซื้อการขายให้ยากขึ้น, การลดผลกระทบจากการดื่มแล้วขับ และการคัดกรองบำบัดรักษา เพื่อปกป้องประชาชนในประเทศจากการตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์แนวใหม่ดังกล่าว จึงทำให้เครือข่ายงดเหล้า, สสส.ร่วมกับ IOGT-NTO Movement ได้เชิญเครือข่ายภาคประชาสังคมใน 9 ประเทศ และรวมประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ต้องการลดผลกระทบจากปัญหาแอลกอฮอล์ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และวางแนวทางดำเนินงานร่วมกัน เพื่อหยุดยั้งการตลาดของธุรกิจที่มุ่งแสวงกำไรบนความทุกข์ของสังคม และแลกเปลี่ยนการดำเนินงานร่วมกัน ในที่ประชุมนี้ก็ได้แสดงความเป็นห่วงด้วยว่ากฎหมายของไทย จะยิ่งเป็นการเพิ่มปริมาณสินค้ามากขึ้น ยิ่งหลากหลายมากขึ้น มุ่งตรงไปที่คนรุ่นใหม่มากขึ้น โดยมีการแนะนำว่าถ้าต้องการลดช่องว่างผู้ผลิตรายใหญ่รายย่อยและไม่เพิ่มปัญหาสังคม ควรต้องเพิ่มกฎหมายจำกัดขนาดของธุรกิจหรือกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม เพื่อลดการผูกขาดลงด้วย เพราะหากจะแก้ไขให้ผลิตได้เสรี จะยิ่งเพิ่มปัญหาสังคมและรายใหญ่ก็จะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น
Mr. Adis Arnautovic ผู้อำนวยการ Center for youth organization (CEM) ประเทศบอสเนียและเฮอเซโกวินา กล่าวว่า การดื่มเป็นค่านิยมประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกัน ทำให้เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปและไม่มีใครที่คิดว่ามันเป็นปัญหา ทั้งนี้ ที่ประเทศของเรามีหลายศาสนาทั้งคาทอลิกและออร์ทอด็อกซ์และชาวมุสลิมจำนวนมาก เพราะถือว่าเป็นการดื่มต่อๆกันมา การตลาดของธุรกิจแอลกอฮอล์สามารถโฆษณาได้ตลอดเวลารวมทั้งในระบบออนไลน์ แม้ว่าเรามีกฎการห้ามขายให้เยาวชน แต่ไม่ค่อยได้รับการปฏิบัติเท่าที่ควร ดังนั้น เราจึงต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อที่จะปกป้องเด็กเยาวชนและกลุ่มผู้หญิง กลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ในชุมชนต่างๆ เพื่อร่วมต่อสู้ทั้งในระดับชุมชน ไปถึงในระดับชาติ โดยต้องการทำงานร่วมกับภาครัฐและวิชาการนั้น เรามีนโยบายหลายประการที่ดำเนินการร่วมกันอยู่ เราพยายามทำงานกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาแอลกอฮอล์ แต่เรามีอุปสรรคด้านโครงสร้างรัฐบาลที่มีความซับซ้อนมากเพราะเรามีระบบการปกครองมากถึง 14 ระดับ ทำให้การทำงานกับภาครัฐค่อนข้างยาก แต่เราก็พยายามนำเสนอผลการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะแนวทาง SAFER จะช่วยทำให้สถานการณ์ในอนาคตของประเทศเราดีขึ้นได้ สำหรับประเทศไทยที่มีความพยายามแก้กฎหมายให้ผลิตเพื่อขายและดื่มได้เสรี มากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง
Mr.Dearak Song ผู้แทนจาก Cambodia Movement for Health (CEM) ประเทศกัมพูชา กล่าวว่า ประเทศกัมพูชายังไม่มีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่มีการควบคุมการผลิต ทำให้สถานการณด้านสังคมสุขภาพน่าเป็นห่วงในปัญหาอุบัติเหตุ ความรุนแรง ผลกระทบต่อสุขภาพ อีกทั้ง มีการออกสินค้าใหม่ๆ หลายยี่ห้อในช่วงหลังโควิด ธุรกิจแอลกอฮอล์สามารถโฆษณาได้ตลอดเวลา รวมทั้ง มีการส่งเสริมการขายชิงโชครางวัลเป็นบ้านหรู ได้รถเก๋งสปอต ได้ทองคำ รวมทั้งในงานด้านกีฬา ดนตรี ใช้อินฟูเอนเซอร์นักร้อง นักแสดงมาโฆษณา สามารถทำ CSR ช่วยเหลือสังคมสร้างภาพลักษณ์ การซื้อการขายไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอายุ สถานที่ วันเวลา โดยหลายหน่วยงานตระหนักในปัญหานี้และกำลังร่วมมือในการแก้ไขเสนอการควบคุมการโฆษณาในสถานที่กีฬา และการดำเนินงานโดยชุมชนสามารถกำหนดระเบียบของชุมชน หรือ “ฎีกา” ในการควบคุมแอลกอฮอล์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ได้เรียนรู้ปัญหาของประเทศต่าง ๆ และได้ความคิดแนวทาง SAFER เพื่อขับเคลื่อนในประเทศต่อไป ส่วนการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสุราในประเทศไทยตนเห็นว่าหลักการต้องแก้ไขให้เข้มข้นมากขึ้น ไม่ใช่ขยายเวลาปิดผับบาร์ หรือเอื้อประโยชน์ให้ผู้ผลิตผู้ขาย หรือแก้ไขให้ขายได้ตลอดเวลา ซึ่งการกำหนดเวลาห้ามขายจะช่วยป้องกันการดื่มในเวลาทำงานได้เป็นอย่างดี
Mr.Pubudu Sumanasekara, รองประธาน Movendi International กล่าวว่า Movendi International ก่อตั้งมาแล้ว 164 ปี เป็นองค์กรประชาสังคมระหว่างประเทศด้านควบคุมแอลกอฮอล์ โดยมีสมาชิกทั้งสิ้น 144 องค์กร จาก 55 ประเทศ กล่าวว่า การที่ถึงกลุ่มผู้ผลิตผู้ขายรายย่อยในประเทศไทยได้เสนอแก้ไขกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่รัฐสภาแล้ว และมีนักการเมืองบางส่วนสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว รู้สึกเป็นห่วง เพราะกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 สามารถหยุดยั้งการตลาดของธุรกิจได้พอสมควร แม้ว่าธุรกิจได้ปรับไปใช้ตราเสมือนโฆษณาแทนในปัจจุบัน แต่เมื่อเสนอแก้ไขให้มีการโฆษณาได้ทุกรูปแบบ หรือทำการลดแลกแจกแถมได้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาระของรัฐบาล และย่อมมีผลกระทบทางสังคมต่อประเทศไทย โดยจะยิ่งเพิ่มจำนวนผู้ดื่มแอลกอฮอล์ได้มากยิ่งขึ้นเพราะการโฆษณาเป็นเครื่องมือเพิ่มยอดขายที่ทรงพลัง และที่สำคัญกลายเป็นผู้ค้ารายใหญ่ได้ประโยชน์ ผู้ที่เสียประโยชน์คือสังคมที่จะเกิดผลต่อความรุนแรงในครอบครัวสังคม อุบัติเหตุทางถนน ซึ่งตอนนี้ประเทศต่าง ๆ พยายามที่จะออกกฎหมายควบคุมให้มากขึ้น รวมทั้งควบคุมทางออนไลน์ แต่ประเทศไทยกลับมีความพยายามเสนอแก้ไขให้อ่อนแอลง ตลอดจนขยายเวลาปิดผับบาร์ถึงตี 4 ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ของสังคมมากกว่าประโยชน์ทางธุรกิจ