กรมอุตุฯ-สทน. บูรณาการข้อมูลเพื่องานวิจัยพัฒนาระบบสารสนเทศด้านอุตุนิยมวิทยา-อุทกวิทยา-เทคโนโลยีนิวเคลียร์ หนุนการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ อากาศ

กรมอุตุฯ ผสานความร่วมมือ สทน. บูรณาการข้อมูลเพื่องานวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และอากาศ

วันนี้ (24 พ.ย. 65) ณ อาคารหอประชุมกรมอุตุนิยมวิทยา ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่าง กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ว่าด้วยความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยา และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และอากาศ มี ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ และ พลเรือตรี วัชระ การุณยวนิช รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามเป็นพยาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกรมอุตุฯ และ สทน. เข้าร่วมงาน


ดร. ชมภารี อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ภารกิจของกรมอุตุฯ และ สทน. มีความเกี่ยวโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านข้อมูลเพื่อการศึกษาและวิจัย ทั้งนี้ สองหน่วยงานได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 โดยมี สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ร่วมลงนามด้วย สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือด้านอุตุนิยมวิทยา และการวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เพื่อประโยชน์ในมิติที่หลากหลาย เพราะนอกจากข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาจะใช้ประโยชน์เพื่อวางแผนและบริหารจัดการน้ำของประเทศโดยตรงแล้ว ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาต่าง ๆ เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝนสามารถนำไปใช้ในการประเมินอัตราการเติมน้ำบาดาลในบริเวณพื้นที่แอ่งน้ำ และนำไปใช้ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างน้ำฝนกับค่าไอโซโทปในน้ำฝน ซึ่งการวัดค่าไอโซโทปนี้ก็สามารถใช้ประโยชน์ในการศึกษาด้านอุทกวิทยาในการหาแหล่งต้นกำเนิดของน้ำ หาแหล่งน้ำใต้ดิน เพื่อนำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำ อีกทั้ง ข้อมูลการตรวจวัดอุณหภูมิ ข้อมูลด้านการตรวจวัดโอโซนและรังสีของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่สามารถนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ในการวางแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านอื่น ๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อขับเคลื่อนประเทศ ความมั่นคง การจัดการภัยพิบัติ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การสาธารณสุข และอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลามากกว่า ๕ ปี ที่ผ่านมา ทางสถาบันฯ เองได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์การกระจายตัวของปริมาณน้ำฝนรายเดือนและรายปีในประเทศไทย ข้อมูลปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทย เพื่อใช้สำหรับโครงการสร้างฐานข้อมูลไอโซโทปเสถียรในน้ำฝนเพื่อศึกษารูปแบบการเกิดฝนของประเทศไทย หรือการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณน้ำฝนกับค่าไอโซโทปเสถียรในน้ำฝน ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การใช้ข้อมูลในการวิจัยแหล่งที่มาของน้ำบาดาลและการประเมินอัตราการเติมน้ำบาดาลในแหล่งน้ำบาดาลในพื้นที่แอ่งน้ำบาดาลเจ้าพระยาตอนบน และพื้นที่น้ำบาดาลแอ่งแพร่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สถาบันฯ ยังมีโครงการสำคัญที่ดำเนินการต่อเนื่อง และต้องใช้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาเป็นส่วนประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ จากสถานีอุตุนิยมวิทยานำร่อง ๓๓ สถานี เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิจัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ข้อมูลการเกิดมรสุม การเกิดใต้ฝุ่นและลมพายุ ความเร็วลม แนวร่องมรสุม จำนวนวันที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในแต่ละปี และข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องทางอุตุนิยมวิทยา เพื่อใช้สำหรับการวิเคราะห์ความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งสถานที่ให้บริการจัดการกากกัมมันตรังสี ในฐานะผู้แทนของสถาบันฯ วันนี้มีความยินดีและภาคภูมิใจยิ่ง ที่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องต้องกันถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติและประชาชนจะได้รับจากความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและอุทกวิทยา ภายใต้การสนับสนุนข้อมูลสำคัญจากกรมอุตุนิยมวิทยา จะเป็นกลไกหนึ่งในสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศได้ในอนาคต

การยกระดับการบูรณาการความร่วมมือให้มีความชัดเจน มีเป้าหมาย และกระชับความร่วมมือให้เข้มแข็งขึ้น ในวันนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดความร่วมมือการสร้างสรรค์โครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ได้ตรงความต้องการที่หลากหลาย และรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของประเทศชาติสืบไป อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวทิ้งท้าย
