พบคนไทยหลายโรครุมเร้า
เบาหวาน-ไขมัน-ความดันฯ
วช.เผย ผลวิจัยด้านสุขภาพคนไทยเสี่ยงอ้วน เป็นที่ 2 ในอาเซียน เหตุเลือกบริโภค ตามใจปาก ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อรุมเร้าตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน โรคหลอดเลือดหัวใจ การหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคไต โรคมะเร็ง โรคตับ โรคข้อเข่าเสื่อมและโรคซึมเศร้า นักวิชาการสาธารณสุข แนะ ใช้ อสม. และเครือข่าย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดึงคนในชุมชนร่วมเฝ้าดูแลกันเอง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2558 แก่ นางวิรุณศิริ อารยวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ทำการวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยอาสาสมัครสาธารณสุข นครบาลและเครือข่ายภาคประชาชน” พบว่าปัจจุบันคนไทยเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภาวะโรคอ้วนก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาหลายอย่าง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน โรคหลอดเลือดหัวใจ การหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคไต โรคมะเร็ง โรคตับ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคซึมเศร้า เป็นต้น และมีแนวโน้มว่าคนไทยจะเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้มากขึ้น
จากข้อมูลของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า คนไทยเป็นโรคอ้วนอันดับที่ 2 ของอาเซียน โดยเพศชายอยู่ในอันดับที่ 4 และเพศหญิงอยู่ในอันดับที่ 2 ทั้งนี้สาเหตุเกิดจาก มีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป นิยมรับประทานอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง หรืออาหารพร้อมปรุงแช่เย็นจากร้านสะดวกซื้อ มากกว่าที่จะปรุงอาหารสดรับประทานเอง รวมทั้งนิยมดื่มน้ำอัดลมและแอลกอฮอล์ โดยประชากรที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีการออกลังกายสม่ำเสมอเพียง 26% เท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายหรือนาน ๆ ครั้งจะออกกำลังกายซึ่งสอดรับการเจริญเติบโตของสังคมเมือง
ด้านนางวิรุณศิริ อารยวงศ์ นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการพิเศษ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผลการวิจัยโครงการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยอาสาสมัครสาธารณสุข นครบาลและเครือข่ายภาคประชาชน ว่า ได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2558 จากวช. เพื่อให้เกิดต้นแบบการเฝ้าระวังโรคและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามวิถีชีวิตไทยโดยบูรณาการทั้งความคิด บทบาท คน เงิน และสิ่งของด้วยการออกแบบกระบวนงานและกิจกรรมการพัฒนา ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น อสม.หรืออาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ดีเด่น สาขาส่งเสริมสุขภาพระดับศูนย์ประสานงานและทีมงาน จำนวน 20 คน จากเขตบึงกุ่ม เขตประเวศ เขตบางมด เขตบางเขนและเขตยานนาวา เพื่อเป็นต้นแบบเฝ้าระวังโรคและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กับชุมชน
โดยรูปแบบการเฝ้าระวังโรคและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ได้คือ ไม่ต้องเข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่เป็นการปฏิบัติจริงตามวิถีชีวิตประจำวัน เน้นการพึ่งพาตนเองและใช้วิถีชีวิตประจำวันอย่างไทย คือ ลด ละ งดเนื้อสัตว์ กินผักผลไม้มากขึ้น ทำอาหารกินเองให้บ่อยขึ้น กินอาหารถูกต้องถูกวิธี ลดอาหารทอด เปลี่ยนขนมขบเคี้ยวเป็นผลไม้ งดดื่มสุรา งดดื่มน้ำเย็น ออกกำลังกาย ล้างพิษด้วยตนเอง คนในชุมชนร่วมกันปลูกผักกินเอง เมื่อมีจำนวนมากสามารถนำไปขายทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น คนในชุมชนทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ฟังคนอื่นให้มากขึ้น รักตัวเอง ครอบครัว สามี ลูก มากขึ้น ดูแลใส่ใจซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ทำให้เกิดการปฏิบัติ ด้วยการใช้ใจ ไม่บังคับ มีทางเลือกให้ แบ่งปัน และมีกัลยาณมิตรร่วมทาง รวมทั้งทำให้เกิดความต่อเนื่องด้วยชุดความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ง่าย ใช้ได้จริง และเข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งใช้การแพทย์แผนตะวันตกและการแพทย์ทางเลือก เช่น การวัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก ส่วนสูง เส้นรอบเอว ความอ้วน ความผอม การตรวจหาน้ำตาลในเลือดและไขมัน การสแกนพิษในร่างกายด้วยการตรวจสอบการยืด เหยียดของกล้ามเนื้อ (ตรวจสอบโดยการ ก้ม เงย เอียงคอ ไหล่แขน เป็นต้น) การตรวจสีปัสสาวะบอกโรค การกัวซา (เป็นการเสาะหาพิษหรือโรคที่แอบแฝงอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยดูจากรอยจ้ำ รอยผื่นของร่างกาย โดยใช้ไม้กัวซาซึ่งไม่ต้องใช้การกินยาแต่อย่างใด) การสอบถามพฤติกรรมการกินอาหาร การดื่มน้ำ การขับถ่ายอุจจาระ พฤติกรรมด้านอารมณ์จากญาติพี่น้อง ฯลฯ โดยจะทำให้เกิดความเชื่อและการยอมรับจากสมุดบันทึกสุขภาพที่ได้จากผลการตรวจการสแกนร่างกายและเส้นทางสุขภาพที่ใช้ภาษาง่าย ๆ และการแปรผลด้วยตนเองจากการเทียบตรวจสีผลของสติกเกอร์ เช่น สีเหลือง หมายถึง สุขภาพมีความเสี่ยง สีแดง คือ ป่วย สีเขียวคือปกติ หรือยังตรวจไม่พบ เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติข้างต้นจะไม่มีการบังคับ ใช้การแบ่งปัน เรียนรู้ด้วยตนเอง
ทั้งนี้ การพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จะมีชุดความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ต้นทุนสุขภาพ กล้วยน้ำหว้า การเพิ่มไขมัน การออกกำลังกายด้วยจินกังกง วิธีเฝ้าระวังโรคด้วยตนเอง และชุดทักษะและอุปกรณ์ ได้แก่ ไม้กัวซา น้ำมันมะพร้าว ปรอทวัดไข้ สายวัดรอบเอว เป็นต้น ไว้ใช้สำหรับเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นมีชุมชนต้นแบบในการเผ้าระวังโรคและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจำนวน 5 ชุมชนดังกล่าวข้างต้น
รวมทั้งมีการขยายผลและเครือข่ายคนมีความสุขไปยังบุคคลและชุมชนอื่น ๆ อีก 10 ชุมชน ตลอดจนได้นำไปถ่ายทอดการดำเนินงานผ่านกิจกรรมมหกรรมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงเรียนและชุมชนในพื้นที่โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้นำไปใช้ด้วย
และที่สำคัญในปีนี้ กรุงเทมหานครจะนำโครงการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังโรคและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยอาสาสมัครสาธารณสุข นครบาลและเครือข่ายภาคประชาชน ไปใช้กับศูนย์บริการสาธารณสุขของทุกเขตด้วย