ร้อยดวงใจร่วมใจลดโลกร้อน
โชว์58ลดก๊าซ1.2 แสนตัน
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(อบก.)จัดงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมลดโลกร้อน” เพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชนลดก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่อง ปลื้มปี 58 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีก พร้อมมอบรางวัลแก่องค์กรและชุมชนที่ร่วมทำความดีผ่านโครงการ LESS ระบุไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวในโลกที่ทำเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพรินท์และเป็นผู้นำด้านนี้ในอาเซียน
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรืออบก. (ที่3จากซ้าย)เปิดเผยว่า อบก.จัดตั้งขึ้นในปี 2550 เพื่อรับผิดชอบการปรับตัวต่อผลกระทบและการลดก๊าซเรือนกระจกและผลักดันพัฒนาโครงการที่จะนำไปสู่การลดปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง เป็นกลไกสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและการบริโภคให้เกิดความยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศและขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
อบก.จึงได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคส่วนอื่น ๆ สามารถบริหารจัดการและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้ โดยส่งเสริมผู้ประกอบการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเพื่อกำหนดแนวทางลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและต่อยอดให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอน และเชื่อมโยงสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรมฉลากคาร์บอน
ผลการดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ ซึ่งอบก.จัดทำสถิติจากปี 2553 ถึงปี 2558 พบว่า มีผู้ผ่านการรับรองประเภทองค์กรจำนวน 12 องค์กร ประเภทผลิตภัณฑ์ 10 ผลิตภัณฑ์จาก 6 บริิษัท ประเภทการจัดประชุมหรืองานอีเวนท์จำนวน 13 งานและประเภทกิจกรรมส่วนบุคคล 320 คน มีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยจำนวน 11,840 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ส่วนผลจากการดำเนินงานของฉลากคาร์บอนที่มีอยู่หลายประเภทคือ 1.ฉลากคาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product) เป็นฉลากสีแดงช่วยบอกว่า วัฏจักรการผลิตสินค้าชิ้นนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ ซึ่งพบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นถึงปี 2558 มีผลิตภัณฑ์เข้าร่วม 1,705 ผลิตภัณฑ์และ 396 บริษัท
2.ฉลากลดคาร์บอนฟุตพรินท์ (Carbon Footprint Reduction)ที่มีฉลากเป็นสีทองเป็นตัวบอกว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นลดการปล่อยก๊าซได้มากเท่าไหร่ ผลที่ได้พบว่า มีบริษัทเข้าร่วมทั้งสิ้น 112 บริษัท รวมกว่า 29 ผลิตภัณฑ์ เฉพาะในปี 2558 เพียงปีเดียวมีผู้สนใจเข้าร่วมสูงถึง 87 บริษัทและ 26 ผลิตภัณฑ์เข้าร่วม ช่วยส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 121,474 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
3.ฉลากคูลโหมด (CoolMode) เป็นฉลากสีฟ้าที่ให้กับกลุ่มบริษัทผู้ผลิตด้านสิ่งทอที่สวมใส่แล้วเย็นสบาย มีบริษัทเข้าร่วมหลายแห่ง อาทิ บริษัทไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) กองการแพทย์เทศบาลนครภูเก็ตและโรงเรียนราชินี เป็นต้น กระทั่งปี 2558 มีสิ่งทอที่ได้รับฉลากนี้ทั้งหมดรวม 48 โครงสร้างผ้าของ 10 บริษัท มีเพิ่มมาในปี 2558 รวม 16 โครงสร้างผ้าจาก 6 บริษัท
4.ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร(Carbon Footprint for Organization) มีองค์กรเข้าร่วมรวม 134 องค์กร 75 เทศบาล 5.ฉลากชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset)มีการซื้อคาร์บอนเครดิตบางส่วน และ 6 บริษัท และ 6.ฉลากชดเชยคาร์บอนทั้งหมด (Carbon Neutral) มีการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อมาชดเชยทั้งหมดทำให้มีค่าการปล่อยก๊าซเท่ากับศูนย์ รวมสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 11,840 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ดังที่กล่าวมาข้างต้น
ตัวอย่างบริษัทที่ร่วมโครงการฉลากคาร์บอน อาทิ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (เกี๊ยวกุ้ง)- บริษัทกลุ่มปาล์มธรรมชาติ จำกัด (น้ำมันปาล์มโอเลอินจากเนื้อปาล์มผ่านกรรมวิธีตราผึ้ง)บริษัทโคโค่มาร์เวิลคอร์เปอเรชั่น จำกัด(น้ำมะพร้าว)และกลุ่มบริษัทผลิตสีเบอเยอร์ บริษัทบี.เอ็น.บราเดอร์ จำกัด เป็นต้น
นอกจากนี้เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ อบก.ได้จัดโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก(Low Emission Support Scheme: LESS) ขึ้น โดยมีแนวคิดในการพัฒนารูปแบบการดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจกพร้อมทั้งสร้างเครื่องมือการคำนวณปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนเพื่อความสะดวกในการพัฒนาโครงการและส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก จาก “ผู้ให้” ในภาคองค์กรธุรกิจ ไปสู่ “ผู้รับ” ในชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามีส่วนร่วม รวมถึง วัด โรงเรียน และอบก.เป็นผู้รับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินกิจกรรม พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณให้ เพื่อเป็นการเผยแพร่และยกย่องผู้ทำความดี โดยได้จัดมอบรางวัลมาเป็นปีที่ 3 ในปี 2558 นี้
ทั้งนี้การดำเนินโครงการ LESS กระทั่งถึงปี 2558 มีมากกว่า 413 กิจกรรมและสามารถลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 184,369,108.2 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีโครงการประเภทการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากที่สุด 192 โครงการ แต่โครงการประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียวที่มี 157 โครงการ สามารถช่วยลดและกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุดที่ 184,313,618 ล้านตัน เมื่อเทียบกับ 51,796 ตันในด้านพลังงาน สำหรับโครงการประเภทพลังงานหมุนเวียน 34 โครงการสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ 3,673.2 ตันและโครงการประเภทการจัดการขยะของเสีย 30 โครงการลดปล่อยก๊าซลงได้ 21 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ด้านดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการอบก. เปิดเผยว่า ปัจจุบันการดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟุตพรินท์มีการทำในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป(EU) สหรัฐฯ ฝรั่งเศสและญี่ปุ่น เป็นต้น แต่ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียวในโลกที่ทำเรื่องนี้และไทยเป็นผู้นำในอาเซียน โดยเฉพาะคาร์บอนฟุตพรินท์ของผลิตภัณฑ์ที่บอกว่า กระบวนการผลิตสินค้าทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางจนทิ้งผลิตภัณฑ์มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปเท่าไหร่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออก ทำให้สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้โดยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในต่างแดน
“จากการประเมินของอบก. นับจากปี 2553 กระทั่งปี 2558 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วประมาณ 335 ล้านตัน ปีนี้ลดลงไปได้มากกว่า 120,000 ตัน ปีหน้าคาดหวังว่าต้องดีขึ้น ทั้งการมีองค์กรเข้าร่วมเพิ่มขึ้นและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นมาจากภาคพลังงานสูงที่สุดสัดส่วน 69-70% รองลงมาเป็นด้านเกษตร 23% กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม 7% และที่เหลือเป็นภาคของเสีย “