พณ.หนุนแฟรนไชส์พันธุ์ไทย
สู่ตลาดโลกตั้งเป้า3ปี300ราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทย สู่ตลาดโลก กับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ สมาคมการแฟรนไชส์และไลเซนส์ และผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ มีธุรกิจแฟรนไชส์ Go Inter แล้ว 20 ราย ร่วมเสนอแนวทาง เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและขยายสู่ตลาดโลก กรมฯเตรียมเสนอมาตรการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลกใน 3 ปี (2559 –61) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 ราย
ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 1,500 ราย แยกเป็นกลุ่มค้าปลีก ร้อยละ 46 อาหารและเครื่องดื่ม ร้อยละ 28 บริการ ร้อยละ 26 การศึกษา ร้อยละ 6 และความงามและสปา ร้อยละ 5 โดยเป็นนิติบุคคล จำนวน 1,230 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมประมาณ 59,502 ล้านบาท และรายได้รวม 645,798 ล้านบาท
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานการหารือเปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งต่อยอดการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพให้ขยายสู่ตลาดโลกไม่น้อยกว่าปีละ 100 ราย โดยส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้ ความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน (AFAS : Asean Framework Agreement on Services) และจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจสาขาบริการการจัดจำหน่ายที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขยายสาขาที่มีประสิทธิภาพ ลดข้อจำกัด สร้างความได้เปรียบในด้านแหล่งเงินทุน และบุคลากรที่จะมาร่วมสร้างความเจริญเติบโตให้กับองค์กร ช่วยสร้างธุรกิจรายใหม่ให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าและเร็วกว่าการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตามการเพื่อเป็นสร้างขีดความสามารถในการขยายธุรกิจสู่ตลาดโลก ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ ตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ จำนวน 604 ราย พัฒนาต่อเนื่องจนสามารถยกระดับสู่มาตรฐานคุณภาพธุรกิจ จำนวน 182 ราย และนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีศักยภาพไปเชื่อมโยงเครือข่ายตลาดต่างประเทศ จนสามารถขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกได้ไม่น้อยกว่า 38 ประเทศ จาก 22 ธุรกิจ
“แฟรนไชส์นั้นเป็นรูปธรรมของธุรกิจภาคบริการ (Service Business) ที่จับต้องได้และกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วจากมูลค่าตลาดเพียง 6,000 ล้านบาทเมื่อปี 2543 ปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์สูงถึงกว่า 200,000 ล้านบาท ครอบคลุมประมาณ 9% ของระบบค้าปลีกของไทยซึ่งเห็นว่ายังเติบโตได้อีกมาก หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นที่มีระบบแฟรนไชส์เข้มแข็งอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่แฟรนไชร์มีสัดส่วนสูงถึง 56% ของมูลค่าในระบบค้าปลีกของเขา ช่องว่างตรงนี้คือโอกาสมหาศาลของผู้ประกอบการไทย”
ทั้งนี้ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหอกในการนำภาคเอกชนให้เข้าถึงกลุ่มตลาดเป้าหมาย ซึ่งได้เตรียมนำเสนอมาตรการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดโลกใน 3 ปี (ปี 2559 – 2561) ให้ได้ไม่น้อยกว่า 300 ราย และสามารถขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 1,800 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 6,300 ล้านบาท
ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวผ่านเฟซบุ๊คในวันเดียวกันอีกว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาแฟรนไชส์ของกระทรวงพาณิชย์จะมุ่งใน 2 แนวทาง คือ หนึ่งเชิงลึก คือ การขยายประเภทของธุรกิจแฟรนไชส์ให้ครอบคลุมในหลากหลายกลุ่มธุรกิจมากยิ่งขึ้นจากปัจจุบันที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม อาหารเครื่องดื่ม ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจการศึกษา ความงามและสปาเป็นหลัก ส่วนแนวทางที่สอง คือในเชิงกว้าง เช่น การส่งออกแฟรนไชส์ไทยไปสู่โลกโดยเริ่มจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ CLMMV (M สองตัวคือ มาเลเซียและเมียนมา) ไปยังอาเซียน ไปยัง จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และโลก ซึ่งจะเป็นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้แก่แฟรนไชส์สัญชาติไทย
“ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ไทยที่ไปเติบโตในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น นีโอสุกี้ (เวียดนาม อินโดนีเซีย) แบล็กแคนยอน (หลายประเทศ) เชสเตอร์กริล ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว (ลาว) เดอะวอฟเฟิล (มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ดูไบ) ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ (เมียนมา ออสเตรเลีย) หรือวงศ์พาณิชย์ ธุรกิจรีไซเคิลสัญชาติไทยที่ไปเติบโตอย่างมากในสหรัฐอเมริกา โมลีแคร์ ธุรกิจคาร์แคร์ที่กำลังไปได้ดีใน CLMV
ผมยังคิดว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งเน้นการสร้างระบบ เน้นโมเดลธุรกิจ มากกว่าเน้นขายตัวสินค้าจะตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก และเรายังอาจจะนำระบบแฟรนไชส์มาผสมผสานกับโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมหรือ Social Business ที่จะช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้อีกทาง นอกจากนี้ แฟรนไชส์ยังสามารถตอบโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างสังคมผู้ประกอบการ นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ก็อาจลองเข้ามาหาความรู้ได้ ธุรกิจนี้เปิดโอกาสให้กับคนที่มีไอเดียสามารถสร้างธุรกิจของตนเองได้ไม่ยากจนเกินไป”
การหารือได้ข้อสรุปร่วมกันอีกข้อหนึ่งคือ ภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันผลักดันแฟรนไชส์ไทยในรูปแบบของ PPP คือ Public-Private Partnership โดยมีเอกชนเป็นเป็นทัพหน้าและภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ดังนั้น ภาคเอกชนที่ทำแฟรนไชส์จึงต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็ง ต้องมีสปิริตของกลุ่มเครือข่ายที่จะร่วมมือผลักดันธุรกิจนี้ต่อไป โดยได้นัดกันว่า ทางภาคเอกชนจะทำร่างโรดแม็พแล้วมาระดมสมองกับกระทรวงพาณิชย์อีกครั้งในอีก 1 เดือนข้างหน้าหรือราวปลายเดือนตุลาคม 2558 นี้