BEDO ดำเนินงาน “โครงการไม้มีค่า-ป่าครอบครัว” เพิ่มพื้นที่สีเขียว จังหวัดสกลนคร
สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ BEDO (เบโด้) เป็นหน่วยงานที่พัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อเป็นกลไกการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน และภาคธุรกิจตามแนวทาง BEDO-BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สำนักงานฯ ได้จัดอบรมเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการขยายพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ฯ โดยให้ฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของ BEDO (เบโด้) เดินทางไปปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดสกลนคร
นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เปิดเผยว่า BEDOทำหน้าที่ขยายพื้นที่ดำเนินงานภายใต้ “โครงการไม้มีค่า-ป่าครอบครัว” และได้มอบภารกิจให้ฝ่ายปฏิบัติการจัดอบรมการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการขยายพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ฯ ณ ชุมชมบ้านคึม ตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร โดยมอบหมายให้นายชัยรัตน์ บุญนาค ผู้ช่วยผู้อำนวยสำนักเผยแพร่และส่งเสริมการมีส่วนร่วม ดำเนินงานการขยายพื้นที่ตามโครงการชุมชนไม้มีค่า – ป่าครอบครัว ที่เป็นโครงการฯ เพิ่มพื้นที่สีเขียวนอกเขตอนุรักษ์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลที่กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่า และพื้นที่สีเขียว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 โดยโครงการชุมชนไม้มีค่า-ป่าครอบครัวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 – 2565 มีสมาชิกสะสมกว่า 1,770 ราย แปลงสะสม 2,129 แปลง รวมจำนวนพื้นที่ทั้งหมดกว่า 20,012 ไร่
การลงพื้นที่ปฏิบัติงานของสำนักงานฯ มีนายศักดิ์สิทธิ์ แดงลีท่า ประธานกลุ่มวิสาหกิจธนาคารต้นไม้บ้านคึม และมีกลุ่มอาชีพสมาชิกบ้านคึม จังหวัดสกลนคร ให้ความร่วมมือเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มอาชีพทอเสื่อ กลุ่มอาชีพจักรสาน กลุ่มอาชีพธนาคารต้นไม้ กลุ่มการทำปุ๋ยหมัก และกลุ่มอาชีพอื่นๆ โดยการอบรมชุมชนบ้านคึมจะมีการแบ่งกลุ่มอาชีพหลักๆ 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มวิสาหกิจธนาคารต้นไม้บ้านคึม ที่รวมกลุ่มกันเพื่อปลูกต้นไม้ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ในที่ดินตนเอง เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และต้นไม้ที่ปลูกยังสามารถนำมาประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นเงินออม และเป็นหลักทรัพย์หลักประกัน ได้อีกด้วย และนอกจากจะรวมกลุ่มปลูกต้นไม้แล้ว นายศักดิ์สิทธิ์ แดงลีท่า ซึ่งเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจธนาคารต้นไม้บ้านคึม ยังได้อนุรักษ์พันธุ์หอยที่หายากใกล้สูญพันธุ์ เช่น หอยปัง หอยหอม และหอยเดื่อ ไว้ในที่ดินของตน และมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านในกลุ่มธนาคารต้นไม้บ้านคึม รวมกันเพาะเลี้ยงหอยหายากพวกนี้ไว้
กลุ่มทอเสื่อบ้านคึม เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันของกลุ่มสตรีบ้านคึมในการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาถักทอเป็นเสื่อเพื่อจำหน่าย และนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างเช่น กระเป๋า หมวก เป็นต้น โดยเสื่อของบ้านคึม จะมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยจะมีลายอาทิ เช่น ลายกลีบลำดวน ลายช่อแก้ว ลายดาวล้อมเพชร ลายดาวใหม่ ลายไทย ลายบักหวายใหญ่ ลายปลา ลายภูไท ลายสไบนาง ลายสไบแพร เป็นต้นทั้งนี้กลุ่มทอเสื่อบ้านคึมได้นำเสื่อลายกลีบลำดวน แก้วมณี ขอดาว และภูไท มาให้ดูพร้อมกับสาธิตวิธีการทอเสื่อของคนในชุมชนอีกด้วย
สำหรับภารกิจการเข้าปฏิบัติการและการดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภายใต้โครงการไม้มีค่า-ป่าครอบครัว เพื่อยกระดับและพัฒนาชุมชน ที่ชุมชมบ้านคึม ตำบลโพนแพง อำเภออากาศอำนวย ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับจังหวัดสกลนคร เพื่อขยายแผนพื้นที่บูรณาการในพื้นที่อื่น และส่งเสริมการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน