ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไทย ผลักดันภูมิทัศน์การบริการยุคใหม่ งาน Thailand Tourism Forum 2023 (TTF 2023)
ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั่วไทย รวมตัวผลักดันภูมิทัศน์ด้านการบริการยุคใหม่ ในงาน Thailand Tourism Forum 2023 (TTF 2023) สัมมนาการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดในเอเชียกลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งต้อนรับการกลับมาของการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ สำหรับงาน Thailand Tourism Forum 2023 หรือ TTF 2023 สุดยอดการประชุมสัมมนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยในปีนี้ เดินทางเข้าสู่ปีที่ 12 และจัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ Innovation in Hospitality มุ่งเน้นประเด็นความสำคัญ ปัญหา และสร้างแรงบันดาลใจในอนาคต รวมถึงแนวคิดการปรับตัวการท่องเที่ยวไทยและสร้างภูมิทัศน์ด้านการบริการแบบใหม่ สู่การพลิกโฉม “การท่องเที่ยวไทย” ให้เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว อาทิ การสร้างแบรนด์ ดีไซน์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม และเวลเนส ซึ่งมีผู้แทนจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเข้าร่วมถึง 800 คน ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพ วันที่ 16 มกราคม 2566
ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนพร้อมที่กำลังจะสร้างคลื่นลูกใหม่ งาน TTF 2023 คือการไขคำตอบก้าวต่อไปของไทยคืออะไร? โลกเปลี่ยนไปอย่างไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แล้วประเทศไทยมีนวัตกรรมอย่างไรที่จะพลิกโฉมภาคส่วนนี้ หรือย้อนกลับไปสู่ยุคของการท่องเที่ยวที่รุ่งเรือง หรือแข็งแกร่งขึ้นและยั่งยืนมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
TTF 2023 ในปีนี้เริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานโดย “บิล บาร์เน็ต” กรรมการผู้จัดการ C9 Hotelworks หัวเรือใหญ่ในการจัดงาน ที่ได้มาอธิบายถึง “ทำไมธุรกิจบริการของไทยต้องสร้างนวัตกรรม” จากนั้นผู้บรรยายหลักของฟอรัมก็ขึ้นเวที ได้แก่ วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) ในหัวข้อ “การสร้างภูมิทัศน์ใหม่ด้านการบริการด้วยแบรนด์”, ลิซ เพอร์กินส์ (Liz Perkins) รองประธานอาวุโส การจัดการรายได้และบริการเชิงพาณิชย์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฮิลตัน หัวข้อ “ดิสรัปชั่นและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีโรงแรมและการจัดจำหน่าย”, โฮ เหริน ยัง (Ho Ren Yung) รองประธานอาวุโส แบรนด์และการขาย กลุ่มบันยันทรี หัวข้อ “การทบทวนวัฒนธรรมการออกแบบของไทย” และ พราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) “ความท้าทายของการเป็นเจ้าของโรงแรม”
นอกจากนั้น ผู้ร่วมงานยังได้รับข้อมูลอัปเดตเกี่ยวกับธุรกรรมโรงแรมในประเทศไทยและการเงินโดย JLL Hotels & Hospitality Group ขณะที่ เอริค ริควอท (Eric Ricaurte) ผู้ก่อตั้ง “กรีนวิว” (Greenview) ได้เปิดเผยวิสัยทัศน์ของเขาเกี่ยวกับ “โรงแรมแห่งอนาคต” และ STR GLOBAL นักวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมโรงแรม ได้นำเสนอข้อมูลสำคัญล่าสุด รวมถึงตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังหลั่งไหลเข้ามาในไทยในปีนี้ โดยเผยว่า การท่องเที่ยวภาคใต้ของไทยกำลังมีฐานธุรกิจที่ดีจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อัตราการเข้าพัก (occupancy) ในช่วง 90 วันข้างหน้า (นับจากวันที่ 2 มกราคม 2566) แบ่งตามจุดหมายปลายทาง ดังนี้ ชะอำ/หัวหิน ยอดจองมากกว่า 50% กรุงเทพฯ และพัทยา ยอดจองมากกว่า 70% พัทยา และภาคใต้ของไทยยอดจองมากกว่า 75% เมื่อเปรียบเทียบยอดเข้าพักของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงวันหยุดยาว (28 กันยายน – 9 ตุลาคม) ในขณะที่ยอดนักท่องเที่ยวจีนไต่ระดับขึ้นตามอัตราฟื้นตัวในปี 2566 แม้จะยังไม่โดดเด่นในช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลตรุษจีนนี้ แต่ก็เห็นสัญญาณที่ดีของธุรกิจการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บิล บาร์เน็ต กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส ในฐานะหัวเรือการผู้จัดงาน กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญอีกประการในธุรกิจการบริการที่ต้องให้ความสนใจคือ “คนทำงาน” ซึ่งแรงงานด้านการท่องเที่ยวกว่า 1.45 ล้านคนหายไปในช่วงโควิด ดังนั้น พันธกิจของเราคือเราจะคิดค้นผลิตภัณฑ์และนำคนที่ดีและเก่งที่สุดกลับคืนสู่อุตสาหกรรมได้อย่างไร เราต้องจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้น ถึงเวลาแล้วที่โรงแรมในประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลง”
คุณพราวพุธ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร บริษัท พราว เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวย้ำประเด็นนี้ว่า “โควิดเป็นสัญญาณเตือนให้เจ้าของที่พักรู้ว่าควรดูแลคนของคุณอย่างไร”
คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การผสานรวมผลิตภัณฑ์และแบรนด์เป็นนวัตกรรมหลักสำหรับอนาคต สำหรับเรามันคือทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสร้างความสุข เราทุกคนต่างค้นหาวิธีที่จะทำให้สำเร็จ และเราเชื่อว่า จำเป็นต้องมองหาความร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโครงการที่ไม่เหมือนใครซึ่งรวมเข้ากับจุดหมายปลายทาง และการนำชุมชนท้องถิ่นมาสู่ประสบการณ์โรงแรม ควรเป็นการเดินทางของลูกค้าแบบบูรณาการ”
ลิซ เพอร์กินส์ (Liz Perkins) รองประธานอาวุโส การจัดการรายได้และบริการเชิงพาณิชย์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฮิลตัน กล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างเทคโนโลยีและผู้คน กุญแจสำคัญคือการผสานทางกายภาพและดิจิทัลให้สำเร็จเพื่อสร้างการเดินทางที่ราบรื่น ในช่วงโควิดเราลงทุนในเทคโนโลยีอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เราแนะนำกุญแจดิจิทัลสำหรับการเช็คอินแบบด่วนพิเศษ ลูกค้ายังสามารถไปที่แผนกต้อนรับส่วนหน้าได้ แต่สิ่งที่เราทำแตกต่างออกไปคือการให้ทางเลือกแก่ลูกค้า”
โฮ เหริน ยัง (Ho Ren Yung) รองประธานอาวุโส แบรนด์และการขาย กลุ่มบันยันทรี กล่าวว่า “นวัตกรรมมาจากข้อจำกัดเราสร้างแนวคิดพูลวิลล่าเมื่อ 30 ปีที่ เพื่อแก้ปัญหารีสอร์ตของเราไม่ได้อยู่ริมชายหาด และตอนนี้เรากำลังนำเสนอห้องพักที่ไม่มีผนังหรือประตูเพื่อนำธรรมชาติเข้ามาเติมเต็มในการพักผ่อนที่ดีที่สุดอีกด้วย”
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtourismforum.com