สสส. สานพลังภาคี จัดประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย “TPAC 2022” ครั้งแรกในไทย
สสส. สานพลังภาคี จัดประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย “TPAC 2022” ครั้งแรกในไทย ชู ยุทธศาสตร์ 3 Actives เพิ่มพฤติกรรมกระฉับกระเฉง-สร้างสภาพแวดล้อม-ปรับเปลี่ยนค่านิยม เดินหน้าฟื้นฟูกิจกรรมทางกายต่อเนื่อง ลดเสี่ยงโรค NCDs
เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ก้าวสู่ปีที่ 22 มุ่งจุดประกาย กระตุ้น สาน เสริมพลังทุกภาคส่วนในสังคมไทยไปสู่สุขภาวะดีครบ 4 มิติ กาย จิต ปัญญา และสังคม สสส. สานพลัง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม วิชาการ ชุมชนท้องถิ่น จัดงานประชุมวิชาการด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย 2565 “Thailand Physical Activity Conference 2022 หรือ TPAC 2022 ครั้งที่ 1 บูรณาการความรู้เพื่อฟื้นฟูกิจกรรมทางกาย “Integrating knowledge for physical activity regeneration” ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การสร้างเสริมสุขภาพ 7 ด้าน 1.กิจกรรมทางกาย 2.อาหาร 3.ยาสูบ 4.แอลกอฮอล์และยาเสพติด 5.ความปลอดภัยทางถนน 6.สุขภาพจิต 7.มลพิษจากสิ่งแวดล้อม โดยเน้นความเท่าเทียมทางสุขภาพ
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่จำเป็นต่อการมีวิถีชีวิตที่นำไปสู่สุขภาพดี (Healthy Lifestyle) มี 4 สิ่งสำคัญ 1.ความรู้ 2.ทักษะ 3.สุขภาพ 4.คุณธรรมจริยธรรม เริ่มต้นจากการรู้ตัวเอง สำรวจน้ำหนัก ติดตามค่า BMI หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ เน้นวิตามินและเกลือแร่เพียงพอ ดื่มน้ำให้เพียงพอ (รวมน้ำที่ได้จากอาหาร) ผู้ชาย 3.7 ลิตร/วัน ผู้หญิง 2.7 ลิตร/วัน รวมถึงการหลับอย่างมีคุณภาพ ที่สำคัญคือการมีกิจกรรมทางกายสม่ำเสมอ ทำให้ร่างกายกระฉับกระเฉงอยู่ตลอดเวลา อาจใช้นวัตกรรมติดตามความเคลื่อนไหว ทั้งการนอน อัตราชีพ เพื่อเตือนและบันทึกข้อมูลที่คอยแจ้งเตือนลดพฤติกรรมเสียงต่อสุขภาพ และหาวิธีจัดการกับอารมณ์ ความเครียด เพื่อนำสู่การมีวิถีชีวิตสุขภาวะ
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากทีแพคพบว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการมีกิจกรรมทางกายลดลงจาก 74.6% ในปี 2562 เหลือเพียง 55.5% ในปี 2563 สสส. สานพลังภาคี ส่งเสริมกิจกรรมทางกายบนวิถีใหม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 Actives 1.Active People ส่งเสริมให้คนกระฉับกระเฉง 2.Active Environment ส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย 3.Active Society สร้างค่านิยมให้สังคมกระฉับกระเฉง ผ่านการพัฒนานวัตกรรม องค์ความรู้ งานวิชาการด้านกิจกรรมทางกาย ส่งผลให้การมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ เพิ่มขึ้นเป็น 62% ในปี 2565 นำไปสู่แนวโน้มการฟื้นฟูกิจกรรมทางกายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติและสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ศ.ดร.ฟีโอนา บูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ไทย เป็น 1 ในผู้นำด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่มีความสอดคล้องกับการทำงานในระดับสากล ตามข้อแนะนำของ WHO ซึ่งช่วยให้การขับเคลื่อนงานทั้งด้านนโยบายและวิชาการ มุ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายชาติ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมในด้านการมีกิจกรรมทางกายของคนทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิผล
นพ.อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า สธ. เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลสุขภาพของประชาชน มีเป้าหมายพัฒนาคนในทุกมิติและทุกช่วงวัยให้ดี เก่ง มีคุณภาพ โดยเริ่มจากการมีสุขภาพดี จากข้อมูลภาระโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ปี 2565 พบว่า กลุ่มวัยทำงาน 30-69 ปี เป็นโรค NCDs ถึง 24.7% เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ที่สำคัญภาครัฐต้องรับภาระค่ารักษาถึง 1.39 แสนล้านบาท/ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เป็น 1 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีสุขภาวะดี ลดเสี่ยงโรค
สธ. ร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่สอดคล้องกับระดับสากลตั้งแต่ปี 2553 ในปี 2561 ผลักดันแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561-2573 แผนระดับชาติ ที่มียุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมกิจกรรมทางกายโดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและวิชาการ เป็น 1 ยุทธศาสตร์ที่สะท้อนความก้าวหน้าของไทย