วช.ระดมสมอง 3 หน่วยงาน
นำความรู้แก้จราจรไทยยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรุงเทพมหานคร จัดประชุมระดมสมอง เรื่อง “ท้าทายไทย : ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร” ในวันพุธ(30ก.ย.58) หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานเปิดงาน มุ่งทำแผนโครงการ-มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อเดินหน้าวิจัยด้านการจราจร นำความรู้แก้ปัญหาจราจรของประเทศไทยยั่งยืน
ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กำลังประสบปัญหาด้านการจราจร และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เป็นผลมาจากความต้องการในการเดินทางของประชาชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการพัฒนาของเมืองที่มีการใช้ที่ดินที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการแก้ไขหรือเตรียมแผนโครงการรองรับกับปัญหาจราจรดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางและความเป็นอยู่ของประชาชน
จึงถือเป็นปัญหาที่สำคัญที่มีความท้าทายในการดำเนินการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการจราจร โดยต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกฝ่าย จัดทำแผนโครงการ และมีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถนำผลงานวิจัยไปใช้แก้ไขปัญหาหรือโจทย์ที่เป็นความต้องการของประเทศไทย โดยมีความร่วมมือ สร้างสรรค์ผลงานที่ดีต่อสังคมและประเทศร่วมกัน
จากปัญหาดังกล่าว วช. จึงร่วมกับวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรุงเทพมหานคร ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงเห็นควรจัดการประชุมระดมสมอง เรื่อง “ท้าทายไทย : ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร” เพื่อหาแนวคิดโจทย์และเป้าหมายที่เหมาะสม และเป็นการสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการท้าทายไทย( Grand Challenges Thailand) ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์ที่สำคัญและเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อจัดทำนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง
“การมารวมตัวกันวันนี้เป็นการระดมความคิดเห็นก่อนการวิจัย เพราะระบบเดิมเปิดโอกาสให้นักวิจัยทำเรื่องที่มีความสนใจ แต่ไม่ได้ศึกษาว่า มีคนอื่นทำไปแล้วหรือยัง หรือมีปัญหาเรื่องที่ทำไปแล้วสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้จริงหรือไม่ ซึ่งแก้ไม่ได้ จากเหตุดังกล่าวจึงเลือกจัดการเสวนาขึ้นเพื่อมาดูกันว่า ปัญหาอยู่ที่ไหน พร้อมรับฟังการเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา มุมมองต่าง ๆ
ขณะเดียวกันยังมีการพิจารณาโครงข่ายขนส่งสาธารณะว่า หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ 8 สายจะสามารถแก้ปัญหาการจราจรได้จริงหรือไม่ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)พบว่า ยังมีประชาชน 40% ที่ยังใช้รถยนต์ส่วนตัวอยู่ แสดงให้เห็นว่า ยังแก้ไม่ได้ ดังนั้นจะมีความรู้อะไรที่จะมาช่วยลดการใช้รถยนต์ลงได้บ้าง ซึ่งจะมีการประชุมในกลุ่มย่อยเพื่อจัดทำเป็นกรอบวิจัย
นอกจากนี้ยังพิจารณาด้วยว่า ระบบขนส่งสาธารณะจะมีประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร? มีการดำเนินการอย่างไรจากจุดสถานีไปยังหน่วยงานสำคัญ ๆรถไฟฟ้าเสร็จแล้วรถติดลดลงหรือไม่? ควรแก้ไขอย่างไร เช่น จะเอาสถานีไปไว้ที่ศูนย์ราชการเหมาะสมหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ต้องแก้ด้วยความรู้”