ฉลองครบรอบ 11 ปี ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
งานเฉลิมฉลองครบรอบ 11 ปี ของการก่อตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเปิดตัวบริษัท Primates Enterprise จำกัด
เพื่อประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ ในโอกาสครบรอบ 11 ปี ของการก่อตั้ง รวมทั้งประชาสัมพันธ์การเริ่มดำเนินงานของบริษัท Primates Enterprise จำกัด อย่างเป็นทางการให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศได้รับทราบ
ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทเเห่งชาติ จุฬาฯ และคณะกรรมการบริษัทและ CEO บริษัท Primates Enterprise จำกัด กล่าวต้อนรับเปิดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 11 ปี ของการก่อตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ และเปิดตัวบริษัท Primates Enterprise จำกัด (11th Anniversary of NPRCT – CU and Official Opening Ceremony of the Primates Enterprise Co., Ltd.) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ จังหวัดสระบุรี
ด้วยที่มาของการก่อตั้งศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ จากการที่รัฐบาลได้ตระหนักถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย มุ่งเน้นด้านระบบสาธารณสุข โดยเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสทางด้านการวิจัยยา สมุนไพร วัคซีนและงานทางชีวการแพทย์ของประเทศไทย ทั้งนี้ยังขาดสัตว์ทดลองกลุ่มไพรเมทที่จะใช้ในการทดสอบพิษวิทยาและประสิทธิภาพของยา ซึ่งจัดเป็นการทดลองระดับพรีคลินิกก่อนที่จะนำไปสู่คน
ดังนั้นตลอดระยะเวลาการทำงาน 11 ปี ของศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ นี้เป็นศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ได้รับรองมาตรฐานสากล AAALAC International ในการดูแลและเลี้ยงสัตว์ทดลอง และการรับรองมาตรฐานสากล Good Laboratory Practice (GLP) ของห้องปฏิบัติการ ช่วยทำให้ประเทศไทยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาและวัคซีน รวมทั้งลดการนำเข้ายาและวัคซีนจากต่างประเทศได้
อนึ่งการเปิดตัวบริษัท Primates Enterprise จำกัด อย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ภายใต้ CU Enterprise และการทำงานร่วมกันกับศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ เพื่อแสดงถึงศักยภาพของบริษัทในการรองรับบริการงานวิจัย ในขณะนี้มีหน่วยงานพันธมิตรมากมายทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นการการันตีถึงความพร้อมในการก้าวสู่ระดับสากลและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาฯ และบริษัท Primates Enterprise จำกัด จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคงที่จะรองรับการพัฒนาและเพิ่มพูนศักยภาพทางด้านสาธารณสุข การผลิตยา และวัคซีน รวมทั้งการบริการงานวิจัย ทดสอบ และผลิตชีววัตถุ ที่ต้องใช้สัตว์กลุ่มไพรเมทให้แก่นักวิจัย บริษัทยา และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยังจะช่วยยกระดับการแข่งขันงานวิจัยระดับสูงให้ทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไปในอนาคต