สสว. ผนึกสอวช. คิกออฟ “โครงการขับเคลื่อนส่งเสริม MSME ด้วยบีซีจี”
สสว. ร่วมกับ สอวช. เปิดตัว “โครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY)” ติดอาวุธความรู้ ยกระดับผู้ประกอบการ 1,000 รายทั่วประเทศ สร้างเกณฑ์ SME BCG เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลไทยเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยปรับใช้ BCG Economy Model เข้าไปช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศ ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น และเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจจาก “ทำมากแต่ได้น้อย” ไปสู่ “ทำน้อยแต่ได้มาก”
นายวีระพงศ์ เผยอีกว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ในด้านต่าง ๆ เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG โดยผ่านกลไกการพัฒนา BCG ไปสู่ผู้ประกอบการ MSME ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้คลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา รวมถึงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ 2.สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG 3.การยกระดับรายได้ด้วยการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ผ่านการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าให้มีชั้นนวัตกรรมที่สูงขึ้น ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานผลิตที่ยั่งยืนและเป็นมาตรฐานสากล ทั้งยังสร้างและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับเศรษฐกิจ BCG ผ่านการสร้างนักพัฒนา BCG
ผอ.สสว. กล่าวอีกว่า การจะดำเนินงานให้ประสบความสำเร็จนั้น สสว. ได้ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ BCG ในมิติของ MSME สำหรับโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG (BIO-CIRCULAR-GREEN ECONOMY) “การส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการ MSME เข้าใจแนวคิด BCG และนำไปปรับใช้กับธุรกิจให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมโยงกับการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือการสนับสนุนจาก สสว. ภาครัฐ มาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเติบโตได้อย่างยั่งยืน และการสร้างระบบนิเวศต่าง ๆ ที่นำไปสู่การสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ MSME และก้าวข้ามมาตรการกีดกันทางการค้า (Trade Barriers) ในตลาดโลกได้” นายวีระพงศ์ กล่าว
นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงการร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ว่า สอวช. ใช้จุดแข็งและบทบาทของ สสว. และ สอวช. เพื่อขับเคลื่อนภายใต้เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ MSME ให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งการเป็น BCG จะสามารถทำให้มี 3 ส่วนประกอบนี้
ผู้อำนวยการ สอวช. เผยว่า ที่ผ่านมา สอวช. ได้ดำเนินการด้านขับเคลื่อนเชิงนโยบายโดยใช้นวัตกรรมมาเป็นฐานในการขับเคลื่อน BCG หลายประเด็น โดยเฉพาะการออกแบบเชิงระบบ สำหรับงานวิจัยในโครงการนี้ สอวช. จะทำวิจัยนโยบายร่วมกับเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) เพื่อออกแบบการใช้ตัวชี้วัด กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงานที่จะมาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากตัวชี้วัด และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนา ซึ่งการทำงานจะออกแบบให้ครอบคลุมทั้งการพัฒนาระบบกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ การดำเนินงาน BCG พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวรับโอกาสได้
“สอวช. มีแผนที่จะขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG และนวัตกรรม ซึ่งโครงการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างระบบการสนับสนุนนวัตกรรม และการสนับสนุน MSME และการสร้างตระหนักรู้ของผู้ประกอบการจากโครงการนี้ จะเป็นบันไดขั้นแรกของผู้ประกอบการสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยแนวคิด BCG เกิดการนำไปปฏิบัติจริงในการพัฒนาธุรกิจตนเองต่อไป รวมถึงเกณฑ์ตัวชี้วัด BCG ที่เกิดขึ้นจะเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรม BCG และการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกิติพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “พัฒนาระบบนิเวศ BCG สำหรับ MSME สู่การแข่งขันที่ยั่งยืน” โดยมีตัวแทนผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ระบบนิเวศ BCG กับการปรับเปลี่ยนธุรกิจ MSME โดย นางสาวกาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อนเครือข่ายด้วย BCG โดย นายปริวรรตน์ คณากัมพลสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด BCG ของ MSME คือห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรม โดย นางสาวสวนิตย์ บุญญาสุวัฒน์ คณะทำงาน BCG Model สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และตลาดทุนกับการขับเคลื่อน BCG โดย นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย นางสาวศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่าย กลุ่มนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน สอวช.
นายปริวรรตน์ คณากัมพลสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การขับเคลื่อนด้าน BCG โดยกล่าวว่า ดอยคำถือเป็นกิจการเพื่อสังคม(Social Enterprise-SE)และเป็นโครงการในพระราชดำริ
การรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจึงเป็นงานหลักของกิจการSE สิ่งที่ดอยคำทำเป็นการแปลงขยะกล่องน้ำผลไม้ยูเอชทีเป็นผลิตภัณฑ์ ใน “โครงการสร้างโลกสีเขียว” ผ่านกิจกรรม “แกะล้างเก็บ” ที่ให้ผู้บริโภคนำกล่องน้ำผลไม้ยูเอชทีแกะล้างแล้วนำมาใช้เป็นส่วนลดหรือซื้อสินค้าดอยคำได้ 1 กล่องใช้แทนเงินสด 1 บาท โดยมีจุดรับกล่องตั้งอยู่ที่ร้านดอยคำทุกสาขา ซึ่งจะช่วยลดขยะกล่องน้ำผลไม้จากที่แต่ละปีดอยคำผลิตกล่องน้ำผลไม้ประมาณ 60-70 ล้านกล่อง
“กล่องที่ได้มานำมาทำเป็นพาเลทวางสินค้าแทนพาพาเลทไม้ ซึ่งพาเลท 1 ชิ้นใช้กล่องน้ำผลไม้ 1,550 กล่อง หากทำในรูปอุตสาหกรรมได้จะช่วยลดขยะไปได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังดีไซน์ เป็นกระถางต้นไม้ เก้าอี้โอ่งและกรวยจราจรที่น่ารักๆ เพื่อให้ผู้บริโภคอยากจะมาแลก มาซื้อที่ร้าน โดยโครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2561 และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ผู้บริโภคในปี 2563 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลองทำหวายเทียมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ซื้อตระกร้าไปแล้ว มากกว่าแค่ไปทิ้ง แต่ตะกร้าหวายเทียมจากกล่องยูเอชทีจะช่วยให้ไม่ต้องตัดต้นไม้”
ทั้งนี้เครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนงานด้านBCG กับดอยคำ อาทิ เต็ดตรา แพ้ค และ เอสไอจี คอมบิบล็อค ที่เป็นผู้ผลิตกล่อง บรรจุภัณฑ์ , ด้านขนส่งร่วมกับ ไปรษณีย์ไทย ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น , เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ทำถังข้าวโพด แก้วน้ำ ,องค์การเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ทำเรื่องนำขยะถุงน้ำยาล้างไตผู้ป่วยมารีไซเคิล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ที่มีคณะสถาปัตยกรรมมาช่วยด้านออกแบบ, คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วยการทำรูปเล่มเพื่อให้เป็นวิชาการมากขึ้นในการตอบโจทย์ , องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ให้ความรู้เรื่องก๊าซเรือนกระจกและด้านคาร์บอนเครดิต, แอดวานซ์แมท ช่วยในการแปรรูป และสอวช.ให้ความรู้เรื่องของนโยบายและบีซีจี