วช. ร่วมกับ ราชภัฏยะลา ติดตามโครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

วช. ร่วมกับ ราชภัฏยะลา ติดตามการดำเนินงานโครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความสำเร็จ
วันที่ 4 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่ประเมินผลสำเร็จฤทธิ์โครงการวิจัยฯ โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายสุพจน์ อาวาส ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการวิจัยฯ ที่ วช. ให้สนับสนุนทุนวิจัย โครงการเรื่อง “การบริหารจัดการและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความสำเร็จ ปี 2” โดย รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ให้การต้อนรับ ณ ชุมชนบ้านปิยะมิตร 3 อำเภอเบตง จังหวัดยะลา


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว.เป็นหน่วยงานหลักที่ให้การสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาบุคลากร ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจากผลสัมฤทธิ์ของโครงการการบริหารจัดการและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความสำเร็จ ปี 2 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. เพื่อติดตาม ปัญหาและอุปสรรค พร้อมให้ข้อเสนอแนะของกิจกรรมการดำเนินงานวิจัยของโครงการวิจัย รวมถึงประเมินผลและสังเคราะห์การวิจัย ผลผลิต ผลลัพธ์ และการใช้ประโยชน์จากการวิจัย

รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า โครงการการบริหารจัดการและประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความสำเร็จ ปี 2 ได้ดำเนินโครงการภายใต้ข้อตกลงของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อนำผลการวิจัยไปแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งก่อให้เกิดความเข็มแข็ง เพิ่มศักยภาพของประชาชนในพื้นที่ให้มีองค์ความรู้เพื่อการนำไปพัฒนาสัมมาชีพให้มีความแข็งแกร่ง ซึ่งนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดรายจ่าย ตลอดจนแก้ปัญหาความจำเป็น เร่งด่วน หรือฉุกเฉิน รวมถึงลดทอนความเหลื่อมล้ำแก่ประชาชนในพื้นที่ และเอื้อให้ชุมชนและสังคมมีความสุขสมบูรณ์ในทุกมิติ ซึ่งแยกประเด็นการพัฒนาในด้านการศึกษา ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านนโยบายของ ศอ.บต.
อีกทั้งยังส่งผล หรืออาจทำให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่มีอัตราลดน้อยลงจนทำให้หมดไปในที่สุด คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งมีความพร้อมในทุกมิติ จึงจัดทำโครงการเพื่อประเมินโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้สู่ความสำเร็จ เพื่อบริหารจัดการโครงการวิจัยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนภายใต้โครงการในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 27 โครงการ

โดยมีผลงานที่ดำเนินการถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์แล้วอาทิ โครงการการพัฒนาตัวแบบเชิงธุรกิจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมวกกะปิเยาะห์ ตําบลกะมิยอ จังหวัดปัตตานี ได้พัฒนากระบวนการพัฒนาตราสินค้าหมวกกะปิเยาะห์ พัฒนาลายหมวกกะปิเยาะห์ รวมถึงพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์หมวกกะปิเยาะห์ โครงการการยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้ธุรกิจโฮมสเตย์เป็นฐานการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมเชิงพื้นที่ จังหวัดยะลา โครงการกระถางต้นไม้จากขี้เลื่อยโดยใช้น้ำยางธรรมชาติเป็นตัวติดประสาน การพัฒนาเครื่องมือในการอัดขึ้นรูปกระถางต้นไม้ด้วยเครื่องไฮดรอลิกแบบมือ และสูตรการผสมขี้เลื่อยและยางธรรมชาติที่เหมาะสมในการขึ้นรูปแบบกระถางต้น รวมถึงพัฒนากระถางต้นไม้ยางขี้เลื่อยและยางธรรมชาติที่สามารถใช้งานได้จริง และโครงการการพัฒนาโมเดลการท่องเที่ยวสีเขียวเชิงวัฒนธรรมและอาหารสุขภาพพื้นถิ่นเชื่อมโยงไทย-จีน-มาเลเซีย เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนชายแดนใต้จังหวัดยะลา พัฒนาเมนูอาหารสุขภาพพื้นถิ่น อาหารไทย, อาหารจีน และ อาหารฮาลาล จำนวน 9 เมนู และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสีเขียวเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จึงวางแผน บริหารจัดการ ติดตามและประเมินผลของให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และให้ทันต่อรอบการดำเนินงาน พร้อมการนำผลการวิจัยไปพัฒนา ขยายผลให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวทิ้งท้ายว่า ประโยชน์ที่จะได้รับหลังการดำเนินงาน ผลจากโครงการวิจัยที่ตอบแผนพัฒนา ศอ.บต. วช. และ อว. จะนำไปบรรจุแผนพัฒนาเพื่อปฏิบัติในระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างชัดเจนต่อไป