“อุ”พร้อมดื่ม-แป้งซับมัน-กลิ่น
“รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย”
มูลนิธิข้าวไทยฯร่วมกับ สนช. กระทรวงวิทย์ฯ ประกาศ“รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2558 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 60 พรรษา” รางวัลชนะเลิศระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ “แป้งไฮโดรโฟบิค: แป้งข้าวเจ้าดูดซับความมันและกลิ่น บริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด ระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ “อุ” พร้อมดื่ม จากวิสาหกิจชุมชนภูมิปัญญาผู้ไทเรณูนคร
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “มูลนิธิข้าวไทยฯ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ร่วมกันจัดประกวด “รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุปัน เพื่อส่งเสริม และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยให้เกิดความตื่นตัวและใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากคุณประโยชน์ด้านต่างๆ ของข้าวให้มีความหลากหลาย และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกในปัจจุบันมากขึ้น อันจะเป็นการสร้างมูลค่าของข้าวไทยให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างยั่งยืน
สำหรับในปี 2558 นี้ ถือเป็นปีมหามงคลในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ ซึ่งที่ผ่านมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับ “ข้าวไทย” มาอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ข้าว และการวิจัย พัฒนา และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทยตลอดทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ข้าวให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้”
“รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2558 นี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ระดับอุตสาหกรรม และระดับวิสาหกิจชุมชน อาศัยเกณฑ์การพิจารณา 4 ด้าน ได้แก่ ความเป็นนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวไทย มีศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ และผลประโยชน์ที่ได้รับทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 1 จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 80,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 40,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 20,000 บาท และรางวัลชมเชย เงินรางวัล 10,000 บาท (2 รางวัล) รวมมูลค่ากว่า 300,000 บาท”
สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ “แป้งไฮโดรโฟบิค: แป้งข้าวเจ้าดูดซับความมันและกลิ่น จากบริษัท โรงเส้นหมี่ชอเฮง จำกัด เป็นนวัตกรรมระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์แป้งข้าวเจ้าดูดซับเหงื่อและดูดซับกลิ่น โดยการนำแป้งข้าวเจ้าโปรตีนต่ำมาดัดแปรงทางเคมีร่วมกับการดัดแปรทางฟิสิกส์ ทำให้แป้งข้าวเจ้าไฮโดรโฟบิคมีคุณสมบัติดูดซับความมันได้สูงกว่าแป้งทัลคัมถึง 3 เท่า และแป้งข้าวเจ้ามีขนาดอนุภาคเฉลี่ย 6 ไมครอน ทำให้ทาผิวได้เรียบเนียนและเกาะกับผิวหนังได้ดี สามารถผลิตเป็นแป้งข้าวเจ้าควบคุมกลิ่นตัวและเชื้อราตามร่างกาย สร้างมูลค่าเพิ่มจากแป้งข้าวเจ้าราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม เป็นแป้งข้าวเจ้าไฮโดรโฟบิคสำหรับควบคุมกลิ่นตัวและเชื้อราตามร่างกายราคา 1,200 บาทต่อกิโลกรัม
ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ “อุ” พร้อมดื่ม จากวิสาหกิจชุมชนภูมิปัญญาผู้ไทเรณูนคร เป็นนวัตกรรมกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ “อุ” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นบ้านที่หมักจากข้าวของไทย โดยประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการหมัก และการเอนแคปซูเลชั่น (alcohol encapsulation) เทคโนโลยีการถนอมอาหารด้วยความร้อน และการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับเครื่องดื่มอุให้มีมาตรฐานด้านรสชาติและคุณภาพความปลอดภัยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค มีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย สะดวกต่อการบริโภค สามารถพัฒนาสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการบริโภคและความเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดื่มไทย คาดว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากราคาต้นทุนข้าวสาร 10 บาทต่อขวดเป็นเครื่องดื่มอุเพิ่มขึ้น 15 เท่า รวมถึงโอกาสการเจาะกลุ่มตลาดไวน์ที่มีราคาตั้งแต่ 500 – 3,000 บาท
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า “สนช. ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยฯ จัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยมาเป็นปีที่ 9 แล้ว เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพในอุตสาหกรรมข้าวของประเทศไทย ซึ่ง สนช. มีนโยบายชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมข้าวไทยบนฐานความรู้ ภายใต้บริบท “ขายข้าวเป็นกรัม ไม่ขายข้าวเป็นเกวียน” ด้วยความเชื่อมั่นว่าผลลัพธ์ที่ได้จะกระจายแบบทวีคูณกลับไปยังผู้ผลิตหรือเกษตรกรฐานราก
ซึ่งหากมีการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับผลผลิตด้านเกษตรย่อมส่งผลให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ ตลาดใหม่ และแหล่งรายได้ใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ยังลดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้นโดยเฉพาะในข้าวไทย ซึ่งเกษตรกรไม่จำเป็นต้องขายในรูปของข้าวสารเพียงอย่างเดียว แต่สามารถจำหน่ายให้ผู้ผลิตสินค้านวัตกรรมในฐานะที่ข้าวเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของสินค้านวัตกรรม
ถือเป็นการสร้างทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกรไทย และหากมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เกษตรกรยังสามารถทำความตกลงกับผู้ผลิตสินค้านวัตกรรม เพื่อส่งมอบผลผลิตที่มีคุณสมบัติตามที่ตรงการได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ สนช. ไม่ได้มุ่งหวังจะเปลี่ยนให้ประเทศไทยยกเลิกการส่งออกข้าวสาร เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้”
สำหรับเจ้าของผลงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัลข้าวไทยประจำปี 2558 นี้ในทุกรางวัล ถือว่าท่านเป็นนวัตกรตัวอย่างที่น่าชื่นชมให้กับผู้ประกอบการไทย ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดมูลค่า และคุณค่าของผลิตภัณฑ์ โดยจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นมีความแปลกใหม่และมีคุณภาพเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่ามันสมองของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก หากแต่ต้องการโอกาสและช่องทางในการพัฒนาต่อยอดความคิดดังกล่าว ทั้งนี้ สนช. ได้จัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2558 ขึ้นใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี
ส่วนรางวัลอื่น ๆ เป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจไม่แพ้กันดังนี้
รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2558 ระดับอุตสาหกรรม
รางวัลที่ 2 ได้แก่ แป้งสำเร็จรูปสำหรับทำเอแคร์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ดร.ลลานา ธีระนุสรณ์กิจ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด
นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์แป้งสำเร็จรูปสำหรับทำเอแคร์จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่นำแป้งข้าวไรซ์เบอรี่มาทดแทนการใช้แป้งสาลี 100%
รางวัลที่ 3 ได้แก่ “Snowgirl” Rice Berry Facial Cream ผลงานนายธนธรรศ สนธีระ บริษัท สยามเนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด โดยการสนับสนุนวิชาการจาก รศ.ดร.อรพิน เกิดชูชื่น รศ.ดร.ณัฎฐา เลาหกุลจิตต์ และนายฤทธิพันธ์ รุ่งเรือง คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวหน้า โดยใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในการผลิตเซลล์ต้นกำเนิดข้าวไรซ์เบอร์รี่ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสาร secondary metabolite คือสารประกอบ phenolic ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ แล้วนำไปใช้ในกระบวนการผลิตครีมบำรุงผิว กระบวนการผลิตสารสำคัญดังกล่าวทำให้ประหยัดเวลา มีปริมาณสารสำคัญและคุณภาพคงที่ ลดปัญหาด้านการจัดหาวัตถุดิบข้าวไรซ์เบอร์รี่
รางวัลชมเชยมี 2 รางวัล ได้แก่ สีบาติค Earth Tone แบบอัดเม็ดสกัดจากข้าว ผลงาน ดร.เพ็ญจา จิตจำรูญโชคไชย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์สีบาติก Earth Tone ที่มาจากการสกัดสีจากข้าวสายพันธุ์ที่มีสี เพื่อนำมาทดแทนการใช้สีบาติคสังเคราะห์
และผลงาน เครื่องดื่มน้ำข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก “Balance” บริษัท ฟอร์แคร์ จำกัด นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์น้ำข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ที่มีลักษณะทางกายภาพด้านเนื้อสัมผัสและความรู้สึกในช่องปากคล้ายคลึงกับผลิตภัณฑ์นม
รางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ปี 2558 ระดับวิสาหกิจชุมชน
รางวัลที่ 2 ได้แก่ ออไรซ์ จัสมินไรซ์ สครับ แอนด์ ครีม ผลงาน นางสาวภฤชฎา ศรีเหนี่ยง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรรมธรรมชาติออร์แกนิคพันธุ์ไทย สนับสนุนวิชาการโดย อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำจากปลายข้าวหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ นำมาใช้ร่วมกับครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของน้ำมันรำข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น โทโคฟีรอล และแกรมม่าออริซานอล ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ครีมสครับที่ไม่ต้องล้างออก เหมือนกับสครับทั่วไป