วุฒิสภา-สสส.–ภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนน
วุฒิสภา-สสส.–ภาคีเครือข่าย เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนน เน้นมาตรฐานการดำเนินคดีผู้กระทำผิดอุบัติเหตุทางถนน มุ่งหวังลดความสูญเสีย-ยกระดับการบังคับใช้กฎหมาย-เกิดระบบการกำกับติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ
ที่รัฐสภา คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ภาคีเครือข่าย จัดเสวนา เรื่อง มาตรฐานการดำเนินคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนน พร้อมจัดพิธีมอบโล่ให้กับตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร 6 นาย ที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ให้ความช่วยเหลือประชาชนด้วยความทุ่มเทและเสียสละด้วยการนำผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินนำส่งจนถึงโรงพยาบาลด้วยความปลอดภัย โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา เปิดการเสวนาและปาฐกถาพิเศษ
นายสุรชัย กล่าวว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนของไทย พบว่า ประชากรไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉลี่ยปีละ 20,000 คน คิดเป็นอัตราตาย 54.7 คนต่อแสนประชากร ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมกับจำนวนผู้พิการ และไทยมีอัตราตายอันดับที่ 9 ของโลก ข้อมูลการตายจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน มรณบัตร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และใบมรณบัตร พบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตค่อยๆลดจำนวนลง แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก หลายภาคส่วนจึงต้องช่วยกันค้นหาแนวทางที่จะลดสถิติลงให้ได้แบบก้าวกระโดดมากขึ้น ซึ่งสัดส่วนผู้เสียชีวิตตามประเภทยานพาหนะ จะพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ 85 % เป็นผู้เปราะบางบนถนน (vulnerable road user: VRU) โดยจำแนกเป็น ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 74 % คนเดินเท้า 8 % และคนขี่จักรยาน 3 % ส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มเด็ก และเยาวชนที่ใช้รถจักรยานยนต์ โดยช่วงอายุระหว่าง 10 – 24 ปี เป็นกลุ่มที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด คิดเป็น 25.7 % ในจำนวนนี้ เกือบทั้งหมด คือ 70.6 % เป็นการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นในกลุ่มรถจักรยานยนต์ คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ และเน้นย้ำถึงแนวทางการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวจะทำให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการดำเนินคดีจากอุบัติเหตุทางถนน กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกส่วน ทั้งผู้กระทำผิดจนเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ผู้ที่ได้รับผลจากอุบัติเหตุ หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีครอบคลุม ครบทุกปัจจัย ทางด้าน บุคคล สภาพตัวรถ และ สภาพสิ่งแวดล้อม โดยจุดมุ่งหมายของกิจกรรมเสวนาครอบคลุมเป้าหมายใน 3 ด้าน 1.นำเสนอข้อพิจารณาสำคัญ กำหนดมาตรฐานการดำเนินคดี นำไปสู่การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน 2. นำเสนอ ช่องว่าง สำคัญของปัญหาการดำเนินคดี ที่ไม่สามารถลงไปถึงรากปัญหา พร้อมแนวทางที่จะจัดการลดช่องว่างเพื่อให้การดำเนินคดี มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้ได้ในทางปฏิบัติ 3. เกิดแนวทาง และสร้างการรับรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลาง และส่วนพื้นที่ นำผลจากการเสวนา ไปปฏิบัติ ยกระดับมาตรฐานการบังคับคดี รวมถึงเกิดระบบการกำกับติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการเวทีการเสวนา ประกอบด้วยวิทยากรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมแพทย์นิติเวช โดยมี นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการในการเสวนาช่วงแรก เรื่อง “มาตรฐานการดำเนินคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งเป็นช่วงของการนำเสนอรากปัญหา ชี้ช่องว่าง สำคัญของการดำเนินคดี ผ่านตัวอย่างเหตุการณ์อุบัติเหตุสำคัญ และ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงที่สองในเรื่อง “เสวนาก้าวต่อไป (Next Step)” ซึ่งจะเป็นช่วงสรุปส่งท้าย เพื่อเกิดการยกระดับมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมายที่สามารถเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลจากการเสวนาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายสำคัญถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้เวทีการเสวนาได้สรุป 3 ประเด็นสำคัญคือ 1.การพัฒนามาตรฐานดำเนินคดีให้มีความครอบคลุมทั้งด้านบุคคลและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง (ยานพาหนะ ถนนและสถาพแวดล้อมต่างๆ) 2.การพิจารณาดำเนินคดีควรเชื่อมโยงไปสู่มาตรการเชิงป้องกิกัน เพื่อมิให้เกิดเหตุซ้ำ อาทิ 2.1 เชื่อมโยงความรับผิดชอบ ของผู้เกี่ยวข้องทั้งระดับบุคคนลหรือหน่วยงาน 2.2 แต่ละเหตุอุบัติเหตุ นอกจากระบุรายละเอียดผู้กระทำความผิดการณ์แล้ว ควรให้ความสำคัญกับคู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ร่วมด้วย 3.เพื่อให้มีการกำกับติดตามคดีอุบัติเหตุสำคัญ พร้อมนำไปสู่มาตรการเชิงป้องกันของสังคมในภาพรวม กำหนดให้ศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ อนุกรรมการติดตามประเมินผล ศปถ. (อนุ-6) และหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น คกก.กู้ชีพฉุกเฉินวุฒิสภา ฯลฯ จัดประชุมกำกับติดตาม โดยมี อนุกรรมการบังคับใช้กฎหมาย ศปถ.จังหวัด นำเสนอข้อมูลประกอบโดยมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัญหา-สาเหตุและโยงสู่การบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการเชิงป้องกัน ต่อไป