องค์กรเด็กและสตรี ร้องสตช. ปัดกวาดพื้นที่สงกรานต์เน้นปลอดเหล้า เตรียมสกัด “คนมือไว “ จ้องคุกคามทางเพศ
องค์กรเด็กและสตรี ร้องสตช. ปัดกวาดพื้นที่สงกรานต์เน้นปลอดเหล้า เตรียมสกัด “คนมือไว “ จ้องคุกคามทางเพศ เสริมความมั่นใจ ทุกเพศสภาพร่วมสนุกในบิ๊กอีเวนต์แรกหลังโควิด 19 อ่อนกำลัง พร้อมเผยผลสำรวจคนไทยร้อยละ 28.1 เคยถูกคุกคามทางเพศ และร้อยละ 55.1 จะนึกถึงตำรวจเพื่อขอให้ช่วยเหลือเมื่อถูกกระทำ
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 66 – ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และแกนนำชุมชนกรุงเทพมหานาคร กว่า 40 คน เข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดในการควบคุม ป้องกันปัญหาการคุกคามทางเพศ ตลอดจนการกระทำความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ การดื่มแล้วขับ การดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง รวมถึงการทะเลาะวิวาท การละเมิดสิทธิของผู้อื่น ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2566 พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายยังได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ขอสงกรานต์ปลอดน้ำเมา ปลอดคุกคามทางเพศ”
นางสาวอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้สำรวจความเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปี 2560 กลุ่มตัวอย่าง 1,650 คน พบว่า28.10% เคยถูกแต๊ะอั๋งจึงไม่อยากเล่นสงกรานต์/กลัวถูกฉวยโอกาสลวนลาม อีก15.7% เบื่อคนเมาเหล้า สำหรับรูปแบบพฤติกรรมที่เจอคือ จับแก้ม จับมือ/เบียดเสียด ใช้สายตามอง แทะโลมทำให้อืดอัด การถูกแซว การผิวปากและการถูกสัมผัสลูบไล้ร่างกาย ซึ่งสอดคล้องผลสำรวจในปี 2566 พบว่ากลุ่มตัวอย่างg8pมีประสบการณ์ถูกปะแป้งที่ใบหน้าตามร่างกาย ถูกแซว/ผิวปาก ถูกฉวยโอกาสลวนลาม แต๊ะอั๋งทำให้ไม่ปลอดภัย และกลุ่มตัวอย่าง 55.6% ระบุว่าหากเกิดเหตุการณ์คุกคามทางเพศหน่วยงานแรกที่ประชาชนนึกถึงคือตำรวจ ตามมาด้วยศูนย์รับแจ้งเหตุในพื้นที่เล่นน้ำ 20.9% และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 13.4%
อย่างไรก็ตาม นอกจากการรณรงค์ สร้างจิตสำนึกแล้ว เครือข่ายฯ เห็นว่าการเข้มงวดตามกฎหมาย จะช่วยให้ผู้ร่วมเทศกาลคลายความกังวลเรื่องความปลอดภัยได้มาก ดังนั้นวันนี้จึงมายื่นหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อแสดงจุดยืนของเรา และมีข้อเรียกร้องดังนี้ 1. เสนอให้สำนักงานตำรวจฯ บังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการลวนลาม คุกคามทางเพศ และความผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถ การทะเลาะวิวาท 2.ขอให้เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ประเด็นกฎหมายดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำผิด และ
3. ขอให้สำนักงานตำรวจฯ ประสานงานให้พื้นที่เล่นน้ำปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการคุกคามทางเพศทุกรูปแบบ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับคนทุกวัย ทุกเพศสภาพ และกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในพื้นที่เล่นน้ำอย่างชัดเจน
ด้านนางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า เมื่อดูสถิตอุบัติเหตุทางถนนจะพบว่าตัวเลขในปี 2565 จะมากกว่าปี 2564 และในปีนี้ผ่านมาแค่สามเดือนก็พบว่าตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนจะมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ดังนั้นสถานการณ์นอกจากจะไม่ดีขึ้นแล้วจึงมีโอกาสที่จะวิกฤตกว่าเดิม และหลังมีการระบาดของโรคโควิด 19 กว่า 3 ปีที่ผ่านมา จนถึงปีนี้สถานการณ์คลี่คลายซึ่งคาดว่า ประชาชนจะมีการเดินทาง ท่องเที่ยวในประเทศตามสถานที่ท่องเที่ยว และการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมญาติพี่น้องและการสังสรรค์ อีกทั้งหลายหน่วยงานกลับมาจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ ทำให้เห็นว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนต่างเตรียมความพร้อมในการจัดกิจกรรมสงกรานต์กันอย่างยิ่งใหญ่ ทางเครือข่ายจึงมีความกังวลว่า หากมีการปล่อยปละละเลย โดยมองในมุมของการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลัก จนกลายเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้สงกรานต์ไม่มีความปลอดภัย
“ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันรณรงค์ให้การเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ในกรอบกฎหมาย ให้เกียรติกัน ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ ที่สำคัญควรปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้คนขาดสติ มีพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมและทำผิดกฎหมาย ทั้งการดื่มแล้วขับ ดื่มสุราบนรถขณะอยู่บนทาง การทะเลาะวิวาทตลอดจนการใช้ความรุนแรง และการบังคับใช้กฎหมายต้องจริงจังเข้มข้น”นางสาวเครือมาศ กล่าว