แนะฝุ่น PM 2.5 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ไม่ใช่เวลาหา “แพะ”
นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเสนอแนะ ฝุ่น PM 2.5 ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ ไม่ใช่เวลาหา “แพะ”
ไศลพงศ์ สุสลิลา นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สองสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นประเด็นที่วิพากย์กันอย่างกว้างขวางทุกภูมิภาคของไทยและทุกช่องทางสื่อสาร เพราะมีผลโดยตรงต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของคนไทย ตลอดจนสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางภาคเหนือตอนบนเรียกได้ว่าสาหัสมาก คือ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ที่เจอควันพิษ 2 เด้ง ทั้งที่ข้ามแดนมาจากเมียนมาและที่เกิดขึ้นในประเทศ จากฝีมือมนุษย์ เช่น การเผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่การเผาป่า เพื่อหาของป่าสร้างรายได้ และที่เกิดจากธรรมชาติเหนือการควบคุม เช่น ไฟป่า ถ้าเราแยกต้นเหตุออกเป็น 2 ทางเช่นนี้ การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจะรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ส่วนการแก้ปัญหา มีการนำเสนอกันไปตามความเห็นส่วนตัวและหลักฐานที่หามาสนับสนุน เช่น การเผาป่าโดยมนุษย์ หรือ เกษตรกรเผาตอซังพืชเพื่อลดต้นทุน ตลอดจนบริษัทที่นำเข้าพืชเกษตรมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวโพด ให้หยุดนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการเผาตอซัง ทั้งที่ผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการและมีราคาสูง เหล่านี้กลายเป็น “แพะรับบาป” เฉพาะกิจทันที เพราะทางออกแบบบูรณาการยังไม่คลอด
จากการวิพากย์สาธารณะ นำไปสู่การระดมสมองทั้งจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ภาคเอกชน ตลอดจนนักการเมือง เพื่อยกระดับการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 เป็น “วาระแห่งชาติ” หาแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นผลในอนาคตอันใกล้ ได้บทสรุปเบื้องต้น ว่า ต้องดำเนินการคู่ขนานกัน 2 ด้าน คือ 1. การแก้ปัญหาในประเทศ และ 2. การแก้ปัญหาในต่างประเทศ หรือระดับภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการเร่งด่วนและทันที
สำหรับข้อที่ 1. การแก้ปัญหาในประเทศ คือการผ่าน “พระราชบัญญัติอากาศสะอาด” โดยมีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย แต่กฎหมายดังกล่าวที่มีการนำเสนอทั้งหมด 5 ฉบับ ถูกปัดตกในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เหลือเพียง 2 ฉบับเท่านั้น โดยมีเนื้อหาหลักในการควบคุมและดูแล ให้ประชาชนได้มีอากาศที่สะอาดและบริสุทธิ์สำหรับใช้หายใจ รวมไปถึงการควบคุมและเอาผิดตลอดจนบทลงโทษกับต้นเหตุของการปล่อยให้มลภาวะออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ และจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องวางแผนแก้ปัญหาแบบบูรณาการ มีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมให้ภาคการเกษตรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว รวมถึงการมีมาตรการสนับสนุนภาคประชาชนหันมาใช้รถไฟฟ้า พลังงานจากแสงอาทิตย์ (solar cell) และต้องมีมาตรการลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และฝุ่นควันจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม
ส่วนข้อที่ 2. การแก้ปัญหาในต่างประเทศ หรือระดับภูมิภาค จำเป็นต้องมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน หรือในระดับ Asean เรื่องฝุ่นควันข้ามแดน เพื่อหารือแนวทางในการแกัปัญหาร่วมกัน หรือ ไทยควรกำหนดเงื่อนไขห้ามนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ตรวจสอบย้อนกลับถึงต้นทางการผลิตที่ปราศจากการเผา เพราะต่อให้ไทยมีมาตรการป้องกันในประเทศที่มีประสิทธิภาพและเข้มงวดเหนือคนอื่นก็ตาม หากประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีการ “เผา” ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ฝุ่นควันจะปลิวมาในอากาศข้ามแดนมาไทย และไม่อาจหลีกเลี่ยงจากผลกระทบจากฝุ่นควันได้ ที่สำคัญการห้ามนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลมีหลักประกันอะไรให้ภาคปศุสัตว์ ให้มีวัตถุดิบสำคัญเพียงพอต่อการผลิตและหลักประกันให้กับผู้บริโภค สามารถหาอาหารได้ในราคาที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้าว นำเสนอว่า “การเผา” คือ เหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลต้องมีมาตรการทางภาษีมาสกัดกั้นการนำเข้า หรือ การออกพันธบัตรป่าไม้ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกป่าแทนปลูกพืชที่ต้องเผาตอซัง หรือทำให้เกิดมลพิษกับคนไทย ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อมูลว่า การห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรใดๆ ผิดกฎ AFTA ซึ่งไทยต้องทำตามข้อตกลง หากไทยจะมีข้อยกเว้นต้องเจรจากับประเทศสมาชิก
ไม่ว่าข้อเสนอจากภาคส่วนใด ขอให้มีการกลั่นกรองให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างบูรณาการ โดยไม่ต้องหา “แพะ” เช่นนี้ แต่ต้องยกระดับการแก้ปัญหาให้เป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริง มีแผนดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ มีหน่วยงานรับผิดชอบที่สนับสนุนการแก้ปัญหา เพื่อให้คนไทยมีอากาศบริสุทธิ์หายใจและใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน.