สกสว. บพข. ร่วมถกทิศทางขับเคลื่อนแผนงานการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจ
29 มีนาคม 2566, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดการประชุมการขับเคลื่อนแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ในการนำเสนอผลโครงการวิจัยและแผนการดำเนินงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทยอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. ประธานหน่วยบูรณาการเชิงประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. บพข. และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม ดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น 15 สกสว.
ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช กล่าวว่า..กองทุน ววน. โดย สกสว. และ บพข.ได้ออกแบบแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม
1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดย สกสว./บพข. ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) และ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดย อบก. จัดทำข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว (Product Category Rule: PCR) 4 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย การเดินทาง ที่พัก อาหาร และการจัดการของเสีย โดยมีการรับรองคาร์บอนฟรุตพริ้นท์และการชดเชยคาร์บอนให้กับโปรแกรมการท่องเที่ยวของ TEATA และได้นำเสนอให้กับตัวแทนขายสินค้าการท่องเที่ยว (Travel Agency) ภาคพื้นยุโรป ในงาน ITB Berlin 2023 จนได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับภาคการท่องเที่ยวของไทยถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ที่มีความตื่นตัวและตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้การสนับสนุนผลการวิจัยนี้ โดยได้มีการกำหนดที่จะนำ Travel Agency จากภาคพื้นยุโรปมาทดสอบโปรแกรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองดังกล่าว ในเร็ว ๆ นี้
2) การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ผลงานที่ผ่านมามีการยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (กอล์ฟ วิ่ง มวย ปั่นจักรยาน) รวมถึงสปาและแพทย์แผนไทย และส่งเสริมให้สถานประกอบการได้รับการรับรองมาตรฐานสุขอนามัยระดับโลก The Global Biorisk Advisory Council (GBAC) โดยปีที่ผ่านมา สถานประกอบการที่มีเจ้าของกิจการเป็นคนไทย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GBAC 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมป่าตองเบย์ฮิลล์ ไทเกอร์มวยไทย และ เกาะยาวใหญ่วิลเลจ ปัจจุบัน กำลังขยายผลไปยังธุรกิจการบิน (ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต) ธุรกิจขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ (นิกรมารีน) ธุรกิจสปา (สุโข เวลเนส แอนด์ สปา) ธุรกิจการจัดประชุมนานาชาติ (บางแสน เฮอริเทจ) พร้อมคาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตจะได้รับการประเมิน GBAC เป็นลำดับที่ 2 รองจากท่าอากาศยานของประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนในอนาคตได้ออกแบบงานวิจัยเพื่อรองรับกลุ่มนักเดินทางที่ต้องการเข้ามาพำนัก พักฟื้น และดูแลสุขภาพในประเทศไทย
3) การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ เป็นแผนงานที่สนับสนุนภาคนโยบายในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งทางด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต การทำงานอย่างมีความสุข ร่วมสร้างประสบการณ์ที่ประทับใจ ให้กับนักท่องเที่ยวคุณภาพที่ประสงค์เข้ามาพำนักระยะยาว(Longstay: Digital nomad, Telework, Wellness /Family, Retirement) รวมถึง การสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all)
4) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แผนงานที่เน้นการพัฒนาระบบนิเวศ/กลไกการบริหารจัดการเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรม การพัฒนาสินค้า บริการและธุรกิจสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งการบูรณาการอุตสากรรมสร้างสรรค์และธุรกิจอื่น ๆ เพื่อขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ พัฒนา Soft Power ได้แก่ อุตสาหกรรมการแสดง เทศกาลประจำเมือง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กล่าวว่า..งานวิจัยด้านการท่องเที่ยวของ สกสว. บพข. มีประโยชน์อย่างมาก ควรหาโอกาสนำเสนอให้กับพรรคการเมือง เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย โดยมีข้อเสนอแนะให้ใช้กลไกทางกฎหมายกับกลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาวางแผนในการยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ รวมถึงการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองรอง หรือ การเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยระบบโลจิสติกส์เพื่อการขนส่งนักท่องเที่ยวผ่านการขนส่งทางราง ทางถนน และทางน้ำ (Rail Road Boat and Bus) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามากับเส้นทางรถไฟ จีน-ลาว ซึ่งเป็นโอกาสใหม่ของการท่องเที่ยวไทยที่มีระบบรางเชื่อมต่อระหว่างประเทศ ในด้านการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ควรมีการจัดเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยว เช่น ภาษีขึ้นเกาะ ภาษีสำหรับพื้นที่เฉพาะที่นอกเหนือจากการจัดเก็บภาษีโดยทั่วไป นอกจากนี้ การท่องเที่ยวของไทยยังมีโอกาสทางการตลาด ที่จำเป็นต้องอาศัยการสร้าง Content ที่สร้างสรรค์และง่ายต่อการสื่อสารไปยังนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้รับทั้งสาระและความบันเทิง
ด้าน ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวถึงในมุมมองของภาคเอกชนเห็นว่า จุดเด่นสำคัญในการออกแบบแผนงานของ สกสว. บพข. คือ การดึงภาคเอกชน/ผู้ประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางานวิจัย ทำให้ผู้ประกอบการที่เดิมใช้เพียงประสบการณ์การทำธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก หันมาใช้ประโยชน์จากการนำองค์ความรู้/ผลการวิจัยไปใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ส่วนปัญหาการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว เสนอให้ใช้การบริหารจัดการและการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวผ่านระบบวีซ่า (Visa) เช่น การยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวที่ประสงค์จะเดินทางไปพำนักยังเมืองรอง …