พณพัฒนาบริการภาคธุรกิจ
ส่งเสริมไทยแข่งขันได้
กระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องปรับปรุงบริการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจไทย (Ease of Doing Business) ตามข้อเสนอของภาคเอกชน เพื่อร่วมกัน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ด้านการจดทะเบียนวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธุรกิจให้ครอบคลุมกว้าง ลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของภาคเอกชน
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุมหารือกันครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมหารือเพื่อยกระดับการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลกเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธานการประชุม ซึ่งในการประชุมครั้งนั้นภาคเอกชนได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอประเด็น ที่ขอให้ภาครัฐปรับปรุงบริการเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้โดยสะดวก รวดเร็ว และง่ายมากขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับภาคเอกชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อวางแนวทางปรับปรุงบริการตามที่เอกชนเสนอแนะและได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจของทุกฝ่าย อีกทั้งภาคเอกชนก็พร้อมและยินดีที่จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบธุรกิจได้รับรู้แนวทางปฏิบัติต่างๆ โดยการประชุมล่าสุดนี้เป็นการรายงานความคืบหน้าในการปรับปรุงบริการดังกล่าวให้ที่ประชุมทราบ
สำหรับประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการปรับปรุงบริการตามที่ภาคเอกชนเสนอแนะแล้ว มีอยู่ 4 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก การจดทะเบียนวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธุรกิจ โดยขอให้ระบุวัตถุประสงค์แบบกว้าง หรือแบบ Negative List ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พิจารณาแล้วเห็นว่า นิติบุคคลมีความสามารถจำกัดภายใต้ขอบอำนาจตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล กิจการที่อยู่นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์ที่กำหนดจะไม่ใช่การกระทำของนิติบุคคลนั้น การระบุวัตถุประสงค์เท่ากับเป็นการระบุขอบเขตอำนาจของห้างหุ้นส่วนบริษัทให้ชัดเจนขึ้น หากระบุวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจนอาจทำให้ไม่ทราบว่าวัตถุประสงค์นั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดปัญหาในการติดต่อธุรกิจหรือทำการค้าขายกับคู่ค้า และการขออนุญาตประกอบกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคลรายนั้นได้ เนื่องจากคู่ค้าหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ทราบว่านิติบุคคลนั้นประกอบธุรกิจใด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังได้ปรับปรุงการให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายต่างๆ ของภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ ณ จุดเดียว (Single point) โดยสามารถยื่นจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (กรมสรรพากร) และขอขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สำนักงานประกันสังคม) รวมทั้งยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน กรณีมีลูกจ้างมากกว่า ๑๐ คนขึ้นไป (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งมารับบริการได้ที่จุดเดียว ใช้เวลาภายใน ๖๐ นาที นอกจากนี้ภายในปี 2560 กรมฯ จะเพิ่มความสะดวกมากยิ่งขึ้นด้วยการนำเทคโนโลยีมาให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) อีกด้วย
ประเด็นที่ 2 คือ การมอบอำนาจให้ลงนามในคำขอจดทะเบียนแทนกรรมการ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ รวมถึงการจดทะเบียนแก้ไขรายละเอียดในแบบ บอจ.3 (เช่น แก้ไขกรรมการ ที่อยู่บริษัท เงื่อนไขการลงนามของกรรมการฯลฯ) ประเด็นนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การมอบอำนาจให้บุคคลอื่นลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนแทน รวมถึงมอบอำนาจให้ผู้อื่นเข้าประชุมแทนในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทเป็นเรื่องเฉพาะตัวของกรรมการ ซึ่งกระทรวงฯ ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจ โดยผู้ขอจดทะเบียนสามารถลงนามในคำขอจดทะเบียนต่อหน้าทนายความหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้ เป็นการลดภาระของผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องเดินทางมาลงนามในคำขอต่อหน้านายทะเบียนด้วยตนเอง
ประเด็นที่ 3 คือ การอำนวยความสะดวกอื่นๆ ขณะนี้กระทรวงฯ ก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนกรณีที่มีเอกสารประกอบจำนวนมากเช่น การจดทะเบียนเพิ่มหรือยกเลิกสำนักงานสาขา โดยกำหนดให้ผู้ขอจดทะเบียน “แจ้งเฉพาะสาขาที่จะทำการเพิ่มเติมเท่านั้น โดยไม่ต้องระบุที่ตั้งสำนักงานสาขาทั้งหมด” เหมือนที่ผ่านมา
และประเด็นสุดท้ายคือ การขออนุญาตประกอบธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น ซึ่งมีหลายขั้นตอน กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในได้มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยออกพ.ร.บ. คลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น พ.ศ.2558 ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายได้ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่โดยเป็นการขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมการค้าภายใน (เดิมต้องขอจากรัฐมนตรี) ซึ่งทำให้กระบวนการขออนุญาตรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 27 ส.ค.58 และมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ ซึ่งก็คือวันที่ 25 ธ.ค.58 เป็นต้นไป
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินธุรกิจได้ง่าย รวดเร็ว และลดภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบธุรกิจแล้ว ยังมีผลต่อการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของธนาคารโลก อันจะส่งต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการเข้ามาประกอบธุรกิจของนักลงทุนที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย และส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่จะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดด้วย”