กรมการศาสนาชวนอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนคุณธรรม-ชุมชนรอบพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)วัดสระเกศ
กรมการศาสนาเชิญชวนร่วมอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนคุณธรรมและชุมชนโดยรอบพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง)วัดสระเกศ
นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า วันวิสาขบูชาในปีนี้ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2566 ขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยในส่วนกลาง ร่วมกับวัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร และองค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนาจัดพิธีสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และเวียนเทียนรอบพระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) ภายในงานส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2566 ระหว่างวันที่ 2–3 มิถุนายน 2566 ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร
มีการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนคุณธรรมและชุมชนโดยรอบวัดสระเกศ เข้าร่วมกว่า จำนวน 30 แห่ง ประกอบด้วย อาทิ ขนมฝรั่งกุฎีจีน หมูโสร่ง ไอศกรีมโบราณ ชาชัก กาแฟโบราณ ขนมจีนน้ำยา ไส้กรอกอีสาน สมุนไพรไทย ภายในบริเวณวัดรอบพระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง ตั้งแต่เวลา 09.00 -21.00 น.
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่ การสาธิตและสืบสานประเพณีการกวนข้าวทิพย์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยจากเครือข่ายศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ กิจกรรม “ธรรม Talk Walk Rally” สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 9 มงคล ภายในวัดฯ นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมผ่านช่องทางออนไลน์ เชิญชวนประชาชนรับฟังคีตธรรม ผ่านบทเพลง “วันวิสาขบูชา”ซึ่งกวีนิพนธ์ไว้โดย ส.ลูกพระร่วง ในทำนองเพลงมอญที่คุ้นหูชาวไทย โดยการรวมตัวกันของน้อง ๆ นักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา ของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม
สามารถติดตามรับฟังและรับชมมิวสิควิดีโอพร้อมกันทั่วประเทศ โดยเปิดตัวบทเพลง เมื่อวัน่ในวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ผ่านทางสื่อโซเชีบลมิเดีย Youtube Facebook และร่วมกิจกรรมตอบปัญหาธรรมะ ผ่านทาง Facebook กรมการศาสนา ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2566 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม “ธรรม Talk Walk Rally” และ “ตอบปัญหาธรรมะ” จะได้รับใบโพธิ์มหามงคลจากสถานที่ตรัสรู้ คือ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองพุทธคยา สาธารณรัฐอินเดีย
อธิบดีกรมการศาสนา กล่าวทิ้งท้ายว่า จัดแสดงผลิตภัณฑ์ของดีชุมชนคุณธรรมและชุมชนโดยรอบวัดสระเกศ นั้น จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาศักยภาพของวัด ศาสนสถาน องค์กรและพื้นที่ให้ศูนย์กลางของชุมชน วิถีชีวิตและสังคม รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างเศรษฐกิจชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่นำสินค้าวัฒนธรรมของชุมชนมาจัดจำหน่าย อาทิ อาหาร เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น
อีกทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวในมิติทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่มีคุณภาพ พร้อมรับการท่องเที่ยว สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่จากการเดินทางของนักท่องเที่ยว รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทกระทรวงวัฒนธรรมจากกระทรวงสังคม สู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจด้วยวัฒนธรรม จะส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และประเทศชาติ ทั้งมิติทางสังคมและเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืนสืบไป