วช. จับมือ มทร.ศรีวิชัย นำงานวิจัยส่งเสริมเกษตรกรเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
วช. จับมือ มทร.ศรีวิชัย นำงานวิจัยส่งเสริมเกษตรกรเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น สร้างอาชีพทางเลือกชุมชนชายฝั่ง สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย กลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมผลสำเร็จของโครงการ “การส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับชุมชนชายฝั่ง” และกิจกรรมสร้างศูนย์วิจัยชุมชน: ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ จ.ตรัง โดยมี ผศ.มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เป็นหัวหน้าโครงการฯ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ อ.สิเกา จ.ตรัง
นายเอนก บำรุงกิจ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีภารกิจหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัยหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นสำคัญของประเทศ โดยมุ่งเน้นผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงนโยบาย เชิงสังคมชุมชน และเชิงเศรษฐกิจ เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญของประเทศ โดย วช. ได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับชุมชนชายฝั่ง และกิจกรรมการสร้างศูนย์วิจัยชุมชน : ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ จ.ตรัง แก่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมี ผศ.มาโนช ขำเจริญ เป็นหัวหน้าโครงการฯ ในการดำเนินการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และพัฒนาการตลาดและการยอมรับของผู้บริโภคเพื่อการส่งออก เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยแล้ว คณะนักวิจัยยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ 3 พื้นที่ของจังหวัดตรัง โดยใช้กลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วน ระหว่างหน่วยงานวิจัย สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนผลผลิตและผลสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การใช้ประโยชน์ และ วช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำเร็จจากงานวิจัยนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งในมิติของการพัฒนาสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและเกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ผศ.มาโนช ขำเจริญ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง แห่ง มทร.ศรีวิชัย หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า สาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa lentilifera) เป็นสาหร่ายทะเลที่มีความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมากขึ้น เป็นที่นิยมในการใช้ทำอาหาร รวมถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านยาและเครื่องสำอาง เนื่องจากสาหร่ายชนิดนี้มีสารอาหารที่มีประโยชน์และให้ผลดีต่อสุขภาพ โดยในประเทศไทยพบสาหร่ายชนิดนี้ในบริเวณภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน มทร.ศรีวิชัย ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. ในการดำเนินโครงการ “การส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับชุมชนชายฝั่ง” โดยคณะนักวิจัยได้นำสาหร่ายพวงองุ่นถือเป็นสาหร่ายทะเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการเพาะเลี้ยงแบบอินทรีย์ โดยการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ถังพลาสติกในโรงเรือน ซึ่งมีผู้นิยมบริโภคสาหร่ายชนิดนี้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินงานโครงการดังกล่าวมีการสร้างโรงเรือนต้นแบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ ในพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ซึ่งในโรงเรือนแห่งนี้มีระบบน้ำทะเล ระบบลม ระบบไฟฟ้าพร้อมใช้งาน ปัจจุบันได้ทำการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ภาชนะถังไฟเบอร์และถังพลาสติก เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกนักศึกษาและเกษตรกรในการเรียนรู้ รวมทั้งใช้เป็นฟาร์มต้นแบบอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการจัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ทั้งภายในและภายนอก มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง การจัดอบรมการแปรรูปลิตภัณฑ์แปรรูปจากสาหร่ายพวงองุ่น ได้แก่ ข้าวเกรียบปลาสดผสมสาหร่ายพวงองุ่น (กะโป๊ะ) ข้าวเกรียบปลาผสมสาหร่ายพวงองุ่น นักเก็ตปลาสาหร่ายพวงองุ่น และสาหร่ายพวงองุ่นในน้ำเกลือ
ทั้งนี้ ผลสำเร็จจากโครงการดังกล่าว ได้นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ 3 พื้นที่ ได้แก่ 1. ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์บ้านปากคลอง ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง โดยมี นายเกษม บุญญา ผู้ใหญ่บ้านปากคลอง เป็นประธานศูนย์วิจัยฯ 2. ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์บ้านแหลมไทร ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง โดยมี นายวสันต์ เตะเส็น ผู้ใหญ่บ้านแหลมไทร เป็นประธานศูนย์วิจัยฯ และ 3. ศูนย์วิจัยและเรียนรู้การเพาะเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์บ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง โดยมี นายณัฐวัฒน์ ทะเลลึก ผู้ใหญ่บ้านมดตะนอย เป็นประธานศูนย์วิจัยฯ โดยศูนย์วิจัยฯ ทั้ง 3 แห่งนี้ ได้ดำเนินการเลี้ยงและแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นแบบอินทรีย์ เกิดการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเป็นอย่างดี ซึ่งถือว่าโครงการนี้ได้ส่งเสริมอาชีพทางเลือกที่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนชายฝั่งอย่างยั่งยืน