สสส. สานพลัง มอ. หนุนเสริมเมืองแห่งสุขภาวะ14 จังหวัดภาคใต้

สสส. สานพลัง มอ.หนุนเสริมเมืองแห่งสุขภาวะ14 จังหวัดภาคใต้พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสร้างความมั่นคงทางอาหาร-บุคคล-สุขภาพ-สิ่งแวดล้อม-จัดการภัยพิบัติ สู่เป้าหมายภาคใต้แห่งความสุข ที่ “เกาะกลางบางทะลุ” พื้นที่นันทนาการชุมชน ต.มะขามเตี้ย จ.สุราษฎร์ธานี คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 ลงพื้นที่โครงการศูนย์วิชาการนโยบายสาธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (ศวนส.) และเยี่ยมชมพื้นที่ปฏิบัติการ ผลลัพธ์จากกลไกบูรณาการความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะสุราษฎร์ธานี


รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 7 กล่าวว่า สสส. ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดทำโครงการศูนย์วิชาการนโยบายสารธารณะเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (ศวนส.) โดยใช้กลไกวิชาการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ภายใต้หลักคิดของการใช้กระบวนการทางวิชาการ ยกระดับและขยายผลความรู้จากปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นการสานเสริมพลังภาคีเครือข่ายและสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานของ สสส. นำไปสู่สังคมสุขภาวะที่ครอบคลุมทุกมิติ

ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า ได้ร่วมกับ สถาบันนโยบายสาธารณะ มอ. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ สานพลัง สร้าง และหนุนเสริมศักยภาพภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เน้นยกระดับข้อเสนอเชิงนโยบายจากการขับเคลื่อนงานใน 4 ประเด็นหลัก 1. ความมั่นคงทางอาหาร ขับเคลื่อนในประเด็นนโยบายสวนยางยั่งยืน พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน และชุมชนสีเขียว 2. ความมั่นคงทางมนุษย์ ขับเคลื่อนในประเด็นการบูรณาการกลไกระดับอำเภอและระดับจังหวัด 3. ความมั่นคงทางสุขภาพ ขับเคลื่อนประเด็นการจัดบริการในพื้นที่ ผลักดันแนวทางปฏิบัติการพหุวัฒนธรรม 4. ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม จัดการภัยพิบัติ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายภาคใต้แห่งความสุข ซึ่งจากเวทีสร้างสุขภาคใต้ที่ผ่านมาได้มีการเสนอผลักดันให้เกิดกลไกคณะกรรมการสุขภาวะระดับจังหวัดและกองทุนส่งเสริมสุขภาวะระดับจังหวัด จึงเกิดการพัฒนาความร่วมมือนำร่องในจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อหนุนเสริมนโยบายดังกล่าว


ดร.ปรเมษฐ์ จินา ประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการบูรณาการกลไกความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า จากการร่วมเป็นจังหวัดนำร่องบูรณาการกลไกความร่วมมือฯ ได้มีการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะทำงาน และพี่เลี้ยง ผลักดัน วางแผน บูรณาการความร่วมมือ การจัดกิจกรรมต่างๆ สร้างการรับรู้โครงการผ่านเวที Kick Off การถอดบทเรียน เพื่อหาข้อค้นพบ ตัวอย่างรูปธรรมความสำเร็จในระดับตำบล อำเภอ จ.สุราษฎร์ธานี อบรมพัฒนาศักยภาพพี่เลี้ยง ส่งเสริมสุขภาวะ 5 อ อาหาร อุบัติเหตุ ออกกำลังกาย อโรคยา และอนามัยสิ่งแวดล้อม


ซึ่งชุมชนมะขามเตี้ยได้ร่วมทำงานในโครงการฯ ทั้งบุคคล ชุมชน และท้องถิ่น นำไปสู่ผลสำเร็จของการเกิดชุมชนมะขามเตี้ยแห่งความสุขนั้น 1. การเห็นปัญหาร่วมกัน “ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน” 2. การมี “ทุนและศักยภาพของพื้นที่” การสนับสนุนทุนทั้งจากภายนอกและภายในพื้นที่ รวมถึงศักยภาพผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำกลุ่มต่างๆมีความเข้มแข็ง อาสาสมัครทำงานเชิงพื้นที่อย่างยาวนาน และต่อเนื่อง 3. การใช้พื้นที่ประโยชน์ร่วมกัน การทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุ นันทนาการ การจัดการขยะ สร้างสังคมสุขภาวะในพื้นที่อย่างแท้จริง