กรมโรงงานฯ- UNIDO – GEF หนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้…พาสุข” ชิงเงินรางวัล 5 แสน


กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ได้รับการสนับสนุนโดย กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) กรมควบคุมมลพิษ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ “พลอยได้..พาสุข” รอบชิงชนะเลิศ กิจกรรมภายใต้ “โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อสนับสนุนการแข่งขันแบบจำลองธุรกิจและการนำไปดำเนินการ” (Capacity Building to Support the Business Model Competition and Implementation) ตามหลักแนวคิดการพึ่งพาอาศัยระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนมุ่งสร้างมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ผลักดันการสร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชนรอบโรงงานได้อย่างยั่งยืน โดยทีมที่ชนะเลิศการแข่งขันได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” ชิงเงินรางวัล 500,000 บาท โดยมี นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายโดย นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการแข่งขันดังกล่าวณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า “การแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ ‘พลอยได้..พาสุข’ มีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อย วิสาหกิจชุมชน หรือ กลุ่มบุคคล ที่มีศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (Waste) หรือ วัสดุพลอยได้ (By-product) จากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามหลักแนวคิด ‘การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชน’ (Industry-urban Symbiosis) อันจะนำไปสู่การลดอัตราการเกิดของเสียและการลดอัตราการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่เป้าหมายได้ ซึ่งสอดคล้องกับ นโยบายการพัฒนาประเทศแบบ BCG Model ที่มีการนำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์และเพิ่มวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตามหลัก Circular Economy และ Green Economy อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม MIND ในการส่งเสริมและเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน การนำสินค้า/บริการ/หรือสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นจากของเหลือภาคอุตสาหกรรมมาร่วมแข่งขันแบบจำลองธุรกิจ เพื่อการดำเนินธุรกิจที่เป็นรูปธรรม สร้างมูลค่า และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบพื้นที่อุตสาหกรรมได้อีกทาง เกิดเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับเมือง”


กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการแข่งขันรอบสุดท้าย รอบชิงชนะเลิศ มีผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 5 ทีม ได้แก่ ทีมวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานบ้านท่าตะคร้อ, ทีมวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์เกษตรกรบ้านอ้ออีเขียว, ทีมวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรท่าโรงช้าง, ทีมวิสาหกิจชุมชนพรมเช็ดเท้าหนองนาก และทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม โดยมีเวลาให้ทั้ง 5 ทีมนำเสนอแผนธุรกิจ 30 นาที สำหรับทีมชนะเลิศจะได้รับเงินทุนต่อยอดธุรกิจมูลค่า 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 4 รางวัล ทีมละ 50,000 บาท โดยหลังจากนี้ 6 เดือน มีการติดตามความสำเร็จการนำแผนและโมเดลธุรกิจไปปฏิบัติ และนำมาจัดทำเป็นกรณีความสำเร็จ (Success Cases) ต่อไป




โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีมวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม จากจังหวัดอุดรธานี พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจ “สีดีสร้างสุข สีจากธรรมชาติ” มีการทำผลิตภัณฑ์หลากหลาย พัฒนาโทนสีให้เหมาะกับยุคสมัย มีการจัดผลิตภัณฑ์เป็นชุด จำหน่ายแบบ DIY มีบรรจุภัณฑ์หลายขนาด ปัจจุบันมีให้เลือก 108 สี โดยจัดจำหน่ายตามฤดุการ ครั้งละ 24-36 สี ผลิตภัณฑ์: สีธรรมชาติจากของเหลือภาคเกษตรและพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม (สีผง สีย้อม/เพนท์ผ้า สีสกรีน) วัสดุหลัก: กากน้ำตาล, กากอ้อย – นำ waste ไปหมัก แช่ ต้ม บ่ม กรอง เพื่อเป็นสารช่วยย้อม วัสดุประกอบอื่น: ดินแร่ ยางพารา คราม


“ทั้งนี้ กรมโรงงานฯ คาดการณ์ว่าในการจัดกิจกรรมในอนาคต จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30% ต่อปีและได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษา ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และประชาชน เกิดนวัตกรรมจากวัสดุเหลือจากภาคอุตสาหกรรม มาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ และกระตุ้นให้เกิดกระแสการแข่งขันทางธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างสมดุลและยั่งยืน” นายณัฏฐพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
