สสส.- มูลนิธิหยุดพนัน สานพลัง ศธ.-ตร. ภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนรณรงค์หยุดพนันในเด็ก-เยาวชน สร้างภูมิคุ้มกัน

จิตแพทย์ชี้ “พนันเป็นสิ่งเสพติด” ศูนย์ฯพนัน เปิดผลสำรวจคนไทยกว่าล้านคนติดพนัน สสส.- มูลนิธิหยุดพนัน สานพลัง ศธ.-ตร. ภาคีเครือข่าย เร่งขับเคลื่อนรณรงค์หยุดพนันในเด็ก-เยาวชน สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างความตระหนัก รู้เท่าทันพิษภัยพนัน บ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์


เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดแถลงข่าวรณรงค์ “พนันเป็นสิ่งเสพติด” ร่วมรณรงค์วันต่อต้านยาเสพติดโลก ในวันที่ 26 มิ.ย. พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่โรงเรียนที่ร่วมรณรงค์พนันเป็นสิ่งเสพติด และเปิดตัวสปอตรณรงค์ “ครั้งแรกติดใจ ครั้งต่อไปติดพนัน” นายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประกาศว่า การติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชอย่างหนึ่ง คล้ายการติดสารเสพติด ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน รายงานว่า 1 ใน 5 ของผู้พนันในปี 2564 ประเมินตนเองว่า “ติดพนัน” คือ เล่นมาก เล่นบ่อย เล่นต่อเนื่อง เลิกไม่ได้ จนก่อให้เกิดปัญหา ในจำนวนนี้เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงและเป็นกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุกว่า 1 ล้านคน
“การรณรงค์ครั้งนี้ เพื่อชี้ให้สังคมเห็นโทษ และพิษภัยที่ร้ายแรงของพนัน คนทั่วไปคิดว่าพนันมีแต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วพนันก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ ทำให้เกิดการเสพพอ ๆ กับยาเสพติด วันที่ 26 มิถุนายน เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก อยากให้สังคมตื่นตัวต่อปัญหา และเห็นว่าพนันไม่ใช่เรื่องปกติแต่เป็นสิ่งเสพติด การเพิ่มพนันเท่ากับเป็นการเพิ่มสิ่งเสพติด ทำให้เกิดต้นทุนผลกระทบทางสังคมตามมา อยากฝากให้ภาครัฐ เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างรอบด้าน” นายธนากร กล่าว
นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การพนัน เป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ยิ่งเล่นยิ่งติด ยิ่งกระตุ้นสมองส่วนกลางให้มีพฤติกรรมการอยากเข้าไปเล่นมากยิ่งขึ้นจนไปมีอำนาจเหนือสมองส่วนคิด จนขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความลังเลในการเข้าสู่การเล่นพนัน จนมาถึงจุดที่ไม่มีคำว่าพอ ถึงแม้ว่าจะหมดตัว มีปัญหากับครอบครัว หน้าที่การงาน กู้ยืมจนเป็นหนี้ หรือเกิดการลักขโมย เพื่อให้ได้เงินมาเล่นพนัน คล้ายกับยาเสพติด ยิ่งเสพยิ่งติด ยิ่งเสพยิ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย ขาดการยับยั้งชั่งใจ หากมีอาการเหล่านี้ถือว่าติดการพนัน โดยกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเข้าวงจรพนันคือ กลุ่มเด็ก และเยาวชน เพราะขาดความตระหนักรู้ ยังรู้ไม่เท่าทันพิษภัยของพนัน จะต้องป้องกันตั้งแต่ต้น เพราะแม้ว่าจะติดง่ายกว่า แต่รักษาได้ไวกว่าผู้ใหญ่ที่ติด แต่หากไม่ป้องกัน จะเกิดการบ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์ ส่งผลให้เป็นผู้ใหญ่ที่ติดพนันที่รุนแรงได้ ผู้ปกครองต้องเข้าใจ รับฟัง

รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การติดพนันในสังคมไทย พนันออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากสำรวจพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 15-25 ปี พบว่า เล่นพนันเกือบ 3 ล้านคน อายุ 15-18 ปีกว่า 500,000 คน อายุ 19-25 จำนวน 2.5 ล้าน 88% เจอโฆษณาชักชวนผ่าน SMS และสื่อออนไลน์ ประมาณ 44% เห็นแล้วอยากลองเข้าไปเล่น 25% คลิกเข้าไปดู และ 1% แชร์ข้อความโฆษณาไปยังสาธารณะ และรู้สึกว่าพนันออนไลน์เล่นได้ง่าย สะดวก แค่มือถือ เครื่องเดียว เมื่อสอบถามว่าทำไมถึงยังเล่น ส่วนใหญ่ตอบว่า เล่นออนไลน์สามารถปกปิดตัวตนได้ อัตราของการเล่นของเด็ก และเยาวชนถึง 25% เล่นจนเป็นปัญหาต่อตนเอง ทรัพย์สิน และครอบครัว ไม่มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เครียด เสียการเรียน ด้านสภาพแวดล้อมมีผลให้เล่นการพนันได้ง่ายขึ้น เช่น เห็นพ่อแม่ หรือเพื่อนเล่นพนัน ที่น่ากังวลจากกลุ่มที่สำรวจคือ 3% เป็นหนี้ และไม่คิดจะเลิก อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสพติดการพนัน การโกหก ลักขโมย และใช้ความรุนแรงไปจนถึงปัญหาต่อสังคม

นายชนะ สุ่มมาตย์ ผอ.ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า พนันในกลุ่มเยาวชน ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิตใจ ขาดเรียน ครอบครัว และชีวิตประจำวัน โดยพนันออนไลน์เป็นปัญหาอย่างมาก เพราะนักเรียนใช้มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ขณะนี้แนวทางการรับมือของสถานศึกษา ทาง ศธ. ได้มีแพลตฟอร์ม MOE Safety Center ศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการ รายงานความไม่ปลอดภัยในเขตโรงเรียน โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงจะเข้าไปดำเนินการแก้ไขจุดที่เกิดปัญหา อย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เปิดแพลตฟอร์ม มีการแจ้งการเล่นพนันในโรงเรียนกว่า 1 แสนกรณี ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน สร้างความตระหนักถึงพิษภัยของพนันที่นักเรียนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงผิดเข้าไปเล่น มุ่งหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาพนันที่รุกคืบ และใช้กลไกของ ศธ.ขับเคลื่อนป้องกัน ปราบปรามพนันกับเด็ก และเยาวชน