อว. ปลื้ม! นักวิจัยไทยคว้ารางวัลการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ 5 ประเทศ
อว. ปลื้ม! นักวิจัยไทยคว้ารางวัลการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ 5 ประเทศ จัดงานประกาศเกียรติคุณสุดยิ่งใหญ่ พร้อมชู “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยก้าวไกลระดับโลก”
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติ เพื่อประกาศเกียรติคุณแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปประกวดเวทีนานาชาติ กว่า 261 ผลงานใน 5 เวทีจาก 5 ประเทศ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีฯ และปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทยก้าวไกลระดับโลก” โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวรายงาน ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ ชั้น 3 สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 2. แนวคิด Resilience 3. เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และ 4. โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ซึ่งการพัฒนาองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้ฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กระทรวง อว. โดย วช. ได้สนับสนุนและดำเนินการโครงการการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เวทีระดับนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดย วช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานผู้มีอำนาจเสนอชื่อของประเทศไทยในการนำผลงานของนักประดิษฐ์ไทยเข้าสู่เวทีการประกวดแข่งขันและจัดแสดงในเวทีระดับนานาชาติ ในรูปแบบ Onsite และ Online ทั้งในทวีปยุโรปและเอเชีย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และประสบการณ์กับนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากนานาประเทศ และเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เผยแพร่ผลงานและแสดงความรู้ ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสายตาของชาวโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นระหว่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยได้เข้าไปมีบทบาทด้านการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นในเวทีระดับนานาชาติด้วย
“กระทรวง อว. อยากที่จะเห็นนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยรวมถึงหน่วยงานที่มีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผนึกกำลังอย่างแข็งแกร่ง เพราะเชื่อว่าคนไทยเก่งและมีความสามารถ ผมขอชื่นชมและขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของทุกท่านที่ได้รับมาในครั้งนี้ ซึ่งท่านถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐที่ได้ตั้งไว้” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวทิ้งท้าย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของนักประดิษฐ์และนักวิจัยไทย เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในเวทีสำคัญระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของไทยในระดับสากล ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ วช. ได้ดำเนิน “โครงการส่งเสริมผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เวทีนานาชาติ” ในฐานะหน่วยงานคัดเลือกและนำส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติของประเทศไทยกว่า 300 ผลงานต่อปี ด้วยมีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักประดิษฐ์ไทยได้รับองค์ความรู้ใหม่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยและการประดิษฐ์กับนักวิจัยชาวต่างประเทศในการพัฒนาผลงานใหม่ๆ ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงานได้รับการรับรองโดยมาตรฐานสากล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ตลอดจนเกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยไทยและนักวิจัยนานาชาติในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ในมิติต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมในระดับสากล และ วช. มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของนักวิจัยและนักประดิษฐ์ไทยได้ก้าวสู่เวทีระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศ ได้แก่ International Federation of Inspection Agencies (IFIA) และ World Invention Intellectual Property Associations (WIIPA) ซึ่งเป็นองค์กรกลางของหน่วยงานด้านการส่งเสริมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนานาชาติ
รางวัลผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ประกอบด้วย
- เวที The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทองเกียรติยศจำนวน 3 รางวัล เหรียญทองจำนวน 27 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 42 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 52 รางวัล
- เวที The 34th International Invention, Innovation & Technology Exhibition (ITEX 2023) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล ITEX 2023 BEST INVENTION AWRD ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญของงานจำนวน 1 รางวัล เหรียญทองจำนวน 28 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 26 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 3 รางวัล
- เวที The 16th International Invention and Innovation Show (INTARG® 2023) ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้ารางวัล THE BEST FOREIGN INNOVATION AWARD ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของงานจำนวน 1 รางวัล เหรียญทองจำนวน 18 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 5 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 6 รางวัล
- เวที The 6th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo 2023 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยนักประดิษฐ์ไทยสามารถคว้าเหรียญทองจำนวน 10 รางวัล เหรียญเงินจำนวน 4 รางวัล และเหรียญทองแดงจำนวน 1 รางวัล
และ 5. เวที 2023 Japan Design, Idea and Invention Expo (JDIE 2023) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เวทีนี้มีกำหนดการประกวดและจัดแสดงในวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม 2566 ที่จะถึงนี้
ภายในงานนอกจากการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยที่ได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติแล้ว ยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรม Highlight จำนวน 8 ผลงาน ที่คว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติ ได้แก่ 1. ผลงาน “เซนเซอร์อัจฉริยะตรวจวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด” โดย ศ.ดร.เกศรา ณ บางช้าง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2. ผลงาน “ระบบวิเคราะห์และสั่งการระบบไฟฟ้าข้ามประเทศแบบอัตโนมัติผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสาธารณะและไอโอที” โดย นายรัฐวิชญ์ พุฒิพัฒนาศักดิ์ แห่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3. ผลงาน “การพัฒนาและสมบัติของพอลิพรอพิลีน/พอลิเอทิลีนไวนิลอะซิเตท/ไมโครเซลลูโลส สำหรับประยุกต์เป็นวัสดุขัดในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย (Bright A Gems)” โดย รศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4. ผลงาน “เข็มขัดเคลือบยางพาราสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วย” โดย ดร.ศิริพร ลาภเกียรติถาวร แห่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
5. ผลงาน “อุปกรณ์เก็บน้ำยางแบบสะพายหลัง” โดย นางสาวพริมา น้อยนาดี แห่งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ตรัง 6. ผลงาน “ชุดตรวจ DNA อย่างรวดเร็วแบบแถบสีที่จำเพาะต่อพืชพิษสกุลอริสโทโลเกียที่ทำให้เกิดโรคไตจากกรดอริสโทโลคิก” โดย ศ.ภญ.ร.ต.อ.หญิง ดร.สุชาดา สุขหร่อง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7. ผลงาน “อุปกรณ์วาล์วทางเดียวจากวัสดุฉลาดประเภทโลหะผสมจำรูปเพื่อใช้รักษาโรคถุงลมโป่งพอง” โดย รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ 8. ผลงาน “กระบวนการสกัดดอกดาวเรืองด้วยกระบวนการสกัดด้วยแสงเพิ่มปริมาณสารสำคัญและนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมบำรุงสายตา และพัฒนาเป็นสารทที่ใช้ในครีมกันแดดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดย ดร.เดวิด มกรพงศ์ แห่ง บริษัท เดวิดเอนเตอร์ไพรส์แอนด์ดีวีลอปเม้นท์ จำกัด
นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยที่นักประดิษฐ์และนักวิจัยไทยในฐานะตัวแทนประเทศไทยได้สร้างชื่อเสียงและสร้างการยอมรับในมาตรฐานของผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของประเทศไทยในเวทีนานาชาติ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม