ก.วิทย์ลงนามสัญญาจ้าง
ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)ลงนามในสัญญาว่าจ้างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ระบบก๊าซซิฟิเคชั่น ขนาด 1.0 MW จำนวน 2 โรงงาน สืบเนื่องจากที่ วท. สนับสนุนระหว่าง ผู้ลงทุน บริษัท เจอาร์ ไบแมส เพาเวอร์ จำกัด กับผู้รับจ้างสร้างโรงไฟฟ้า บริษัท เบสท์เวิร์ค จำกัด ผู้ดำเนินการ โดยมีมจพ. เป็นที่ปรึกษาโครงการ และการขยายผลจากโครงภายใต้ข้อกำหนดของ วท.
สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (สพอ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.)ภายใต้การสนับสนุนจาก วท. ได้ทำการศึกษาวิจัยทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ เพื่อตอบสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 และตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ต้องใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มีแต่ต้องขยัน ต้องหาวิธีจะทำให้เชื้อเพลิงเกิดขึ้นมาใหม่” รวมถึงนโยบายของรัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ของประเทศไทย ปี 2015-2020 ที่ชัดเจนในการสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น สพอ. จึงได้จัดทำระบบของโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี ให้สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกับภาคเกษตรกรรมและชุมชน ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ นั่นคือ การสร้างรายได้เพิ่มจากวัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะพืชที่ถูกเผาทำลายหลังการเก็บเกี่ยว เช่น ซังตอข้าว ยอดและใบอ้อย ลำต้น/ซังข้าวโพด ที่สร้างปัญหาหมอกควันในภาคเหนือ อีสานและภาคกลาง นอกจากนั้นยังสามารถใช้ กิ่งไม้ยางพารา ทางปาล์ม และเปลือกมะพร้าว ทางภาคใต้ได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยจัดได้ว่ามีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าร้อยล้านไร่ และส่วนใหญ่เกษตรกรทำการเผาวัสดุชีวมวลเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรม ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสังคมโดยรวม ทั้งด้านมลพิษทางอากาศ รวมไปถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้และนับวันจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันนั้นประเทศไทยยังมีความต้องการ การใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่นับวันจะหมดไป และพลังงานหมุนเวียนจากน้ำ ลม แสงอาทิตย์ และชีวมวล เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าชีวมวลเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ประเทศไทยมีอยู่เป็นจำนวนมาก จากวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรกรรมสามารถนำมาใช้ประโยขน์ถ้าไม่เผาทิ้งได้ถึง 41.41 ล้านตันต่อปี มีค่าความร้อนเทียบเท่าน้ำมันเตา 14,567 ktoe/ปี คิดเป็นมูลค่า 309,521 ล้านบาทต่อปี ผลิตไฟฟ้าได้รวม 2,760 MW ซึ่งนับเป็นผลพลอยได้จากภาคเกษตรกรรม และไม่ต้องลงทุนปลูกขึ้นมาใช้ เช่น หญ้าเนเปียร์และพืชพลังงานอื่นๆ
นอกจากนี้ยังได้รับผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย ผงถ่านดำ น้ำส้มควันไม้ และความร้อน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์และสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรและชุมชนอีกมาก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรและชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน โดยที่รัฐบาลสามารถลดงบประมาณของประเทศไปจ่ายเงินชดเชยผลผลิตภาคเกษตรกรรรมทุกๆ ปี ดังนั้นโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในระบบก๊าซซิฟิเคชั่นนี้จึงเป็น ช่องทางหนึ่งในการแก้ปัญหา พลังงาน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนจนความมั่นคงของประเทศ