“เวลโลกราฟ” นาฬิกาสุขภาพ
รางวัลนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ
วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) จัดงานเพื่อประกาศผลและพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปีเหมือนเช่นเคย โดยปี 2558 นี้เป็นการจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรมขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย”
ในการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ตามโครงการพระราชดำริ “แกล้งดิน” ในเขตจังหวัดนราธิวาส อีกทั้งยังเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการไทย รวมถึงนักวิจัยและนักเทคโนโลยีจากภาครัฐ
ปีนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว พร้อมปาฐกถาพิเศษ เน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจที่จะสามารถขับเคลื่อนได้ บนฐานความสามารถเชิงนวัตกรรมของสินค้าและการสร้าง Business Model ที่เปลี่ยนแปลงตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกปัจจุบัน
ดร.สมคิดกล่าวว่า ไทยจะพึ่งพาการส่งออกแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว และมีสิ่งสำคัญ 2 อย่างที่ไม่ค่อยพูดถึงกัน สิ่งแรกคือ ภาคเอกชนว่า สินค้าของพวกเขาขายได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องอาศัยนวัตกรรมมาช่วย สิ่งที่ 2 คือ “โมเดลธุรกิจยุคสมัยใหม่” ที่ถือเป็นนวัตกรรมเชิงความคิดในการทำธุรกิจ ว่าโลกสมัยใหม่มีการค้าขายกันอย่างไร เป็นนวัตกรรมความเปลี่ยนแปลงในขณะที่โลกกระชับเข้าหากัน ติดต่อกันได้ง่ายเพียงชั่วข้ามคืน นั่นคือ การติดต่อกันผ่านทาง “อินเทอร์เน็ต” ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาวิธีการทำธุรกิจใหม่ มีวิธีทำการตลาดสมัยใหม่ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า ธุรกิจ หรือสินค้าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีชี้ว่า ทำอย่างไรให้มีโมเดลธุรกิจที่ถูกต้อง สร้างธุรกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งหมายถึง การสามารถผลักดันธุรกิจให้เติบโตได้และเกิดการจ้างงานได้เร็ว ซึ่งไทยสามารถทำได้แต่ต้องมีเจ้าภาพเป็นองค์กรกลางเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สร้างการตื่นตัว โดยยกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นอนาคตของประเทศ ที่จะต้องทำหน้าที่เป็นแกนกลางเชื่อมโยงทุกฝ่าย ระดมมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน องค์กรที่มีพลังและ สถาบันการเงินมาทำงานร่วมกัน มีการแผนวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานและกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งการขอ งบประมาณเพื่ออรองรับจะมีชัดเจนในทางยุทธศาสตร์ อาทิ เน้นการทำวิจัย การเปลี่ยนแปลงวิธีการศึกษา ในมหาวิทยาลัย การร่วมมือกับธนาคารมาช่วยในการให้เงินทุนแก่ผู้ที่ต้องการทำธุรกิจนวัตกรรม การอบรม การทำแผนธุรกิจที่ดีควรจะทำอย่างไร เริ่มค้าขายผ่านช่องทางใหม่ ๆ ให้รางวัลนักลงทุนที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้แข่งขันได้ โดยย้ำว่า “อนาคตโลกต้องสู้กันตรงนี้จริง ๆ”
สำหรับผลการจัดประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ” ประจำปี 2558 ปรากฏว่า “ เวลโลกราฟ” นาฬิกาสุขภาพ จากบริษัทเวลโลกราฟ จำกัด คว้ารางวัลชนะเลิศทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งวัดชีพจรได้อย่างต่อเนื่อง ตรวจจับการเต้นของหัวใจจากการสวมใส่ที่ข้อมือ โดยมีเทคนิคการกำจัดสัญญาณรบกวน จึงแม่นยำใกล้เคียงกับเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจในโรงพยาบาล มีโปรแกรมคำนวณความเหนื่อยล้าของร่างกายโดยใช้เทคนิค Heart Rate Variability (HRV) และวิเคราะห์ความพร้อมในการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งในสภาวะปกติหรือการออกกำลังกาย และสามารถเชื่อมต่อข้อมูลไปยังโทรศัพท์มือถือหรือแทบเล็ตเพื่อแสดงข้อมูลเป็นกราฟรายวัน รายสัปดาห์ได้ ปัจจุบันมีการส่งออกเพื่อจำหน่ายทั่วโลก นับเป็นต้นแบบสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีไทย
ดร.สารสิน บุพพานนท์ ประธานบริหาร บริษัทเอทิซ อินโนเวชั่น จำกัด เปิดเผยว่า เดิมบริษัทเอทิซได้ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว โดยผลิตเครื่องสแกนหนังสือ ATIZ ที่ใช้กันทั่วโลก แต่ต่อมามองเห็นแนวโน้มความสำคัญของอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ จึง ได้เริ่มพัฒนานาฬิกาเพื่อสุขภาพมาตั้งแต่ปี 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นเพื่อใช้ดูแลสุขภาพของคุณพ่อคุณแม่และได้ทำออกมาเป็นรายแรก ๆ ของโลก โดยมีฟีเจออร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจเป็นเจ้าแรก ๆ ของโลกด้วย เริ่มนำเปิดตัวในช่วงปลายปี 2557 ก่อนวางขายช่วงต้นปี 2558
ทั้งนี้ “เวลโลกราฟ” ตัวเรือนทำจากสแตนเลสและอลูมิเนียม หน้าปัดเป็นกระจก SAPPHIRE CRYSTAL กระจกที่ทนต่อการขูดขีด มี 4 สี คือ พิงค์โกลด์ สีเงิน สีขาวและสีดำ มีฟังก์ชั่นหลายอย่าง ทั้งวัดการเต้นของหัวใจ วัดการเคลื่อนไหว โดยนับก้าวและการออกกำลังกาย วัดการนอนหลับ สามารถทำงานได้อย่างอิสระหรือเชื่อมต่อกับมือถือก็ได้ โดยแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์และให้สามารถเปรียบเทียบดูข้อมูลกับเพื่อนได้ ปัจจุบันวางขายในห้างร้านหลายแห่ง อาทิ iStudio ,ร้านบีเทรนด์, เวบไซต์ลาซาด้า,iTrueMart.com และ HTplus ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งและจัดหาสินค้า นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปทั่วโลก โดยมีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก
ดร.สารสินยังกล่าวถึงความแตกต่างของ “เวลโลกราฟ” เมื่อเทียบกับนาฬิกาอัจฉริยะของยักษ์ใหญ่ไอทีระดับโลกอย่างค่าย Apple ว่า เป้าหมายในการพัฒนาคือ เป็นอุปกรณ์เพื่อสุขภาพ โดยใช้เซนเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจโดยไม่ต้องใช้สาย สามาถทำงานได้ยาวนาน 5-7 วันโดยไม่ต้องชาร์จทุกวันเหมือนของค่ายอื่น
และที่สำคัญคือ ต้องการสร้างแบรนด์ของคนไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนนาฬิกาสุขภาพแบรนด์ของคนไทยกันได้ที่สนนราคาเพียง 8,900 บาทเท่านั้น
สำหรับรางวัลชนะเลิศด้านสังคม ประจำปี 2558 ได้แก่ “รากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้” จากบริษัท พีดับพลิว พลัส จำกัด มีขนาดเล็กเพียง 2.75-3.00 มิลลิเมตร ทำให้มีแผลขนาดเล็ก หายเร็ว ยึดกับกระดูกได้ดี ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนหัวที่ยึดกับฟันปลอมและส่วนลำต้นที่ยึดติดกับกระดูกกราม เมื่อสึกหรอจากการใส่เข้า-ออกฟันปลอมแล้ว เปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้งเหมือนเดิม ในวันแรกที่ผ่าตัดใช้งานร่วมกับฟันปลอมได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอนานเหมือนเดิม มีมาตรฐานการผลิต ISO 13485 และผ่านการรับรองมาตรฐานของสหภาพยุโรป (CE mark) จึงเป็นการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ลดการเดินทางไปยังโรงพยาบาล จากเดิมต้องไปพบแพทย์ 8-10 ครั้ง เหลือเพียง 1-2 ครั้ง และยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุ ที่ส่วนมากมีปัญหาฟันปลอมหลุดหลวมเพราะขาดการยึดเกาะและยังเป็นการสร้างงานให้พนักงานจากชุมชนใกล้เคียงโรงงาน โดยมุ่งเป้าที่การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ
ด้านดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว แสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทุกๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นรางวัลนวัตกรรมทางด้านเศรษฐกิจ เช่น ผลงาน “เวลโลกราฟ” นาฬิกาสุขภาพ ที่วัดชีพจรได้อย่างต่อเนื่อง โดยสวมใส่เหมือนนาฬิกาข้อมือ จากบริษัท เวลโลกราฟ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศด้านเศรษฐกิจ หรือ ผลงานรากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้ จากบริษัท พีดับบลิว พลัส จำกัด ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสังคม ผลงานนี้ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO และมาตรฐานสหภาพยุโรปแล้ว อีกทั้งยังสามารถช่วยผู้ป่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยได้
ในโอกาสเดียวกันได้กล่าวถึงการดำเนินการภายหลังจากที่ ดร.สมคิด รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมกระทรวงฯและมอบนโยบายว่า ได้ดำเนินการเพื่อตั้งหลักประมาณ 2-3 เดือนจะได้ความชัดเจนภายในสิ้นปี 2558 ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ใหญ่ ๆ การปรับแผนการดำเนินการในปีงบประมาณ 2559 ว่าจะมีอะไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้อองกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การเป็นเจ้าภาพผลักดันนวัตกรรมที่ต้องร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง งบประมาณ จะต้องปรับหรือไม่จากที่ได้ และคาดว่าจะเริ่มงานได้ในปี 2559
ทั้งนี้ยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่งได้แก่ Food Innopolis ที่กำลังดำเนินการอยู่ จัดหาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการมูลค่าสูง (High Value Added) รวมการจัดหาพื้นที่และการสร้างศูนย์บ่มเพาะ โดยมีโมเดลคล้ายของเนเธอร์แลนด์
ในเวลานี้อาจกล่าวได้ว่า กระทรวงวิทย์ฯกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบใหม่ ที่ท้าทาย คงต้องเอาใจช่วยกันขอให้ทุกฝ่าย ร่วมมือร่วมใจกัน นำพาประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าได้สมกับสโลแกนที่ว่า มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน…